แนะนำหนังสือ
ゴーン道場 ครับ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวของゴーン社長เอง ซึ่งลักษณะการเขียนจะคล้ายๆเป็นการตอบคำถาม แต่ว่าได้มีการจัดแบ่งหมวดหมู่ของคำถามเหล่านั้นให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
และเป็นการเขียนออกมาในลักษณะของภาษาพูด อธิบายหลักการง่ายๆ โดยใช้คำง่ายๆ อ่านง่ายเข้าใจง่าย แม้แต่คนที่ไม่ค่อยเก่งภาษาญี่ปุ่นก็น่าจะอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวของ ゴーン社長 ดังนั้นข้อดีคือ เนื้อหาลงลึกถึงระดับวิธีปฏิบัติ ไม่ใช่จบอยู่แค่การบอกหลักการทั่วๆไป แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติดังนั้น อาจจะมีบางเรื่องที่ทำได้สำเร็จเพราะคนทำเป็น ゴーン社長แต่ถ้าคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆลองทำไปทำดูก็อาจจะไม่สำเร็จ กลับกัน อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นไปได้
นอกจากนี้ยังมีวิธีปฏิบัติบางส่วนที่ค่อนข้างจะขัดแย้งกับแนวคิดของ ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการเมเนจเมนท์ยุคใหม่ ซึ่งหากทุกท่านอ่านไปจนถึงหน้าท้ายๆ ก็จะเข้าใจได้เองว่าทำไม ゴーン社長 จึงมีแนวคิดบางส่วนแตกต่างกับปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ได้
ในบรรดาหนังสือเกี่ยวกับ ゴーン社長 ที่ผมเคยอ่านมานั้น เล่มนี้คือเล่มที่อ่านง่ายอันดับต้นๆเลย ดังนั้น คนที่สนใจในตัว ゴーン社長 แล้วพออ่านภาษาญี่ปุ่นได้บ้าง น่าจะลองเริ่มอ่านจากเล่มนี้ดูนะครับ เพราะว่า แม้ ゴーン社長 จะเป็นคนในวงการรถยนต์ที่ดังมากๆ ได้รับการยอมรับมากๆในประเทศญี่ปุ่น แต่ข้อมูลของเขาในภาษาไทยนั้นมีน้อยเหลือเกิน จึงต้องศึกษาจากหนังสือภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เขียนโดยผู้บริหารโรงงานผลิตรถยนต์ที่เติบโตขึ้นมาจากการเป็นวิศวกรโรงงานยางรถยนต์ ถึงแม้จะมีบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ แต่ผมก็เชื่อว่า คนที่ทำงานในวงการนี้น่าจะใช้ข้อมูลนี้เป็นเบาะแสในการเริ่มต้นคิดได้นะครับว่า ทำไมไม่สอดคล้องแต่เขาทำแล้วเวิร์ค หรือว่าที่จริงแล้วสิ่งที่เขาทำนั้น มันสอดคล้องแล้ว เพียงแต่ดูเหมือนไม่สอดคล้องเท่านั้นเอง เหมือนคำคมในหนังที่ชอบพูดปรัชญาอะไรงงๆว่า ใช่คือไม่ใช่ ไม่ใช่คือใช่ อะไรแบบนี้ครับ
แต่ว่าส่วนตัวจากที่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ ゴーン社長 เล่มอื่นทำให้ผมรู้อยู่แล้วว่า ゴーン社長 เป็นคนที่เรียนเก่งมากตั้งแต่เด็กแล้ว ดังนั้น ด้วยความฉลาดแบบสุดๆ ทำให้แม้จะไม่ใช้วิธีบริหารตามหลักการของปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ แต่ก็สามารถทำสำเร็จได้ ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้ฉลาดสุดๆ ก็น่าจะเลือกวิธีตามหลักการของดรักเกอร์ เพราะจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าครับ