ยิ่งสูงยิ่ง(ต้อง)ใจดี
ตอนที่ 2 ช่วงเรียนรู้งาน
ช่วงแรกๆของการเปลี่ยนสถานะจากการเป็นนักเรียน มาเป็นคนทำงานของเรานั้น หากเราอยู่รอดปลอดภัยสามารถทนต่อความกดดันที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ได้ ขั้นต่อไปที่เราต้องทำก็คือ การเรียนรู้งาน
คนญี่ปุ่นมีคำกล่าวที่ว่า กว่าจะสอนให้เด็กใหม่คนหนึ่งสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ดังนั้นบริษัทญี่ปุ่นส่วนมากไม่ค่อยสนใจระดับการศึกษาหรือคณะที่เราเรียนจบมา แต่เขาจะเน้นไปที่การคัดคนที่ทัศนคติเหมาะสมกับองค์กรมากกว่า เพราะทุกคนเข้ามาแล้วก็ต้องให้รุ่นพี่คอยสอนงานอยู่ดี
การที่บริษัทญี่ปุ่นต้องสอนเด็กใหม่นานขนาดนี้ ผมคิดว่าเป็นเพราะคำว่าทำงานได้ของคนญี่ปุ่นนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราแค่ทำงานตามคำสั่ง หรือตามลำดับขั้นตอนการทำงานเป็นเท่านั้น แต่หมายถึงการที่เราสามารถคิดปรับปรุง(改善) งานได้ด้วยนั่นเอง
เรื่องการคิดปรับปรุงนี้ผมถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งสุดๆของโรงงานอุตสาหกรรมของชาวญี่ปุ่นเลยครับ เพราะแม้แต่พนักงานระดับล่างสุดชาวญี่ปุ่นยังสามารถคิดปรับปรุงงานเป็นเลยครับ
ในการผลิตสินค้าต่างๆ แม้ว่าตอนแรกๆโรงงานญี่ปุ่นจะสู้เทคโนโลยีของโรงงานอเมริกาหรือโรงงานเยอรมันไม่ได้ หรืออาจจะสู้ต้นทุนจากโรงงานจีนหรือโรงงานเกาหลีไม่ได้ แต่ด้วยแนวคิดการปรับปรุงที่ซึมลึกอยู่ในสายเลือดของพนักงานทุกระดับในโรงงานญี่ปุ่น จะทำให้พวกเขาสามารถเอาชนะด้านต้นทุนต่อคุณภาพได้หมด จนมีคำกล่าวว่า ถ้าจะเอาสินค้าคุณภาพดีในราคาที่ถูกที่สุดต้องซื้อของญี่ปุ่น ของจีนแม้จะมีราคาต่อชิ้นถูกกว่าแต่คุณภาพก็แย่กว่ามาก จนต้นทุนต่อคุณภาพแพงกว่าของญี่ปุ่น
ดังนั้นหากเราได้เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นช่วง 5 ปีแรกเราควรตั้งใจเรียนรู้งานให้เต็มที่ ไม่ใช่เรียนรู้แค่วิธีทำงาน แต่ต้องเรียนรู้ในส่วนของวิธีคิดด้วย พร้อมกันนั้นเมื่อเราเข้าสู่ปีที่สองของการทำงาน เราก็อาจจะต้องรับผิดชอบสอนงานให้กับรุ่นน้องปีหนึ่งด้วย
นี่แหละครับคือช่วงที่เราต้องเริ่มย่างก้าวแรกของการฝึกฝนตนเองให้เป็นคนใจดี
คนญี่ปุ่นจะมีแนวคิดว่าองกรค์หรือกลุ่มที่ตนเองสังกัดอยู่นั้นสำคัญกว่าตนเอง คนนั้นอย่างไรก็ต้องตาย แต่องค์กรนั้นสามารถอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้นในการสืบทอดเขาจะเน้นไปที่การสืบทอดเจตนารมณ์ เมื่อเข้าใจเจตนารมณ์ขององค์กรแล้ว จึงค่อยสอนความรู้ สอนเทคนิค สอนโนฮาวต่างๆ และการสอนของเขาจะเป็นการสอนแบบไม่กั๊ก รุ่นพี่จะไม่ค่อยกลัวว่ารุ่นน้องจะแซงตัวเอง แต่รุ่นพี่เขาจะเข้าใจว่าถ้าเขาจะมีโอกาสเติบโตขึ้นต่อไป เขาจำเป็นต้องมีรุ่นน้องขึ้นมาทำงานแทน ยิ่งรุ่นน้องเก่งเท่าไหร่ ตัวเขาก็ยิ่งมีโอกาสขึ้นตำแหน่งสูงมากเท่านั้น เพราะหนึ่งในหน้าที่ของทุกคนในองค์กรคือการสร้างผู้สืบทอดงานของตนเอง รุ่นพี่ที่ไม่สามารถสร้างผู้สืบทอดได้สำเร็จ มักจะไม่ได้รับโอกาสให้ขึ้นตำแหน่งสูง
การที่องค์กรญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องการสอนงานก็เป็นเพราะว่า เขามองว่าความรู้นั้นเป็นขององค์กร และการที่เขามีรุ่นน้องเก่งทำให้ลดความผิดพลาดในการทำงานอันจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อองค์กรได้ด้วย แถมรุ่นน้องเก่งๆยังสามารถคว้าโอกาสต่างๆให้กับองค์กรมากขึ้นด้วย
นี่คือเหตุผลที่รุ่นพี่ชาวญี่ปุ่น(ต้อง)ใจดีกับรุ่นน้อง