คุณค่าที่ล่ามอย่างเรามอบให้สังคมไทย

คุณค่าที่ล่ามอย่างเรามอบให้สังคมไทย

คุณค่าที่งานล่ามมอบสู่สังคมไทย

ในการทำงานเป็นล่าม มีอีกหนึ่งคุณค่าที่เราสามารถมอบสู่สังคมไทยได้ นั่นก็คือเป็นสะพานในการถ่ายทอดความรู้จากคนญี่ปุ่นสู่คนไทย
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยไปล่ามให้งานซ่อมแซมเครื่องจักร วันนั้นมีช่างชาวญี่ปุ่นมา 3 คน และช่างชาวไทยมา 2 คน พอถึงเวลาเริ่มงาน ผมเห็นแต่ช่างชาวญี่ปุ่นลงมือทำงาน ส่วนช่างชาวไทยนั้นนั่งเฉยๆ สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ท่าทางช่างชาวไทยเขาทำหน้าเซ็งๆ
ผมว่าเข้าใจความรู้สึกเขานะ แม้จะนั่งเฉยๆก็ได้เงิน แต่การได้ทำงานน่าจะทำให้พวกเรามีความสุขมากกว่านั่งเฉยๆ อาจจะเป็นเพราะในความรู้สึกลึกๆแล้ว เราอยากมอบคุณค่าจากงานของเขาให้กับคนอื่นเหมือนกัน ผมว่าความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่เป็นสากลนะ คือมีอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด พูดภาษาใด
ผมก็เลยถามช่างชาวไทย ว่า “เฮ้ย เอ็งสองคนไม่ทำงานหละวะ” ช่างชาวไทยก็บอกว่า “เขาไม่ให้ทำอะพี่ ปกติพวกเขาก็ทำเองหมด ผมแค่มีหน้าที่มาส่งพวกเขา” ผมก็เลยถามต่อว่า “แล้วถ้าเขาให้ทำ งานพวกนี้เอ็งทำเป็นปะ” ช่างชาวไทยก็บอกว่า “เป็นดิพี่ แค่ถอดตัวนั้นออกเปลี่ยนตัวใหม่เข้าไป ง่ายๆ”
ผมก็เดินไปคุยกับช่างญี่ปุ่นว่า 「どうして彼らを使わないですか。彼らはできると思います。だって、あなたたちと同じように大学を出ているんですもん。指示してください。私通訳しますから」(ทำไมจึงไม่ใช้งานพวกเขาหละ ผมเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำงานนี้ได้ เพราะพวกเขาก็จบมหาวิทยาลัยเหมือนๆพวกคุณนั่นแหละ สั่งงานเขาหน่อยสิครับ เดี๋ยวผมแปลให้) ช่างญี่ปุ่นก็ถามผมว่า 「本当かい?」(แน่ใจนะ) ผมก็ตอบว่า 「はい、多少違いはあるかもしれないが、同じ電気工学部だから、そんなに違わないと思います。」(แน่ใจครับ อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่มันคณะวิศวะไฟฟ้าเหมือนกัน ไม่น่าจะแตกต่างกันมากมายหรอกครับ) ช่างญี่ปุ่นก็เลยเรียกคนไทยมา แล้วก็เริ่มสั่งงาน ตอนสั่งงานครั้งแรก จะบอกละเอียดมาก บอกทีละขั้นตอนเลย เช่น ถอดสายนั้นออก สายนี้เป็นแบบดึงออกเฉยๆไม่ต้องแกะน็อต เสร็จแล้วแกะน็อตตัวนั้นตัวนี้ ก่อนจะถอดก็เอามากเกอร์มาร์กตำแหน่งก่อนนะ เวลาใส่กลับจะได้ใส่กลับแล้วแน่นเท่าเดิม บลาๆๆๆ ผมก็แปลไปบลาๆๆๆ แน่นอนว่าช่างชาวไทยก็ทำตามที่คนญี่ปุ่นสั่งงานได้อย่างถูกต้อง บางจุดที่เครื่องมือของช่างชาวไทยไม่พอ เขาก็ขอยืมเครื่องมือของช่างชาวญี่ปุ่น ก็ตามสไตล์ช่างรุ่นพี่แหละครับ ก็ตำหนินิดหน่อยว่า ”ทำไมไม่เตรียมมาให้พร้อมวะ” สุดท้ายก็ให้ยืม แต่ก็ไม่ลืมกำชับว่า “อย่าทำหายนะโว้ย ถ้าทำหายโดนต่อยนะโว้ย” พอผมแปลเสร็จช่างชาวไทยบอก “พี่ผมเอากลับเลยได้มะ ยอมโดนต่อย” ผมบอก “อย่าไปเอาของเขา อยากได้ซื้อเองดิ ไปทำของเขาหายวันหลังเขาก็ไม่กล้าให้เอ็งยืมอะไรแล้วแหละ ไม่คุ้มหรอก”
หลังจากวันนั้นผมยังมีโอกาสได้แปลงานซ่อมของช่างกลุ่มนี้อีก ผมก็เห็นช่างชาวไทย ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ ช่างชาวญี่ปุ่นที่เคยมา 3 คน เหลือมาแค่เดียว นั่นหมายความว่า ช่างชาวญี่ปุ่นก็มั่นใจแล้วว่าเขาสามารถใช้งานช่างชาวไทยได้ ไม่ต้องให้คนญี่ปุ่นทำทั้งหมดก็ได้ แล้วการสั่งงานก็สั่งสั้นลง เช่น แกะอุปกรณ์ตัวนี้ออกมาเปลี่ยน จำวิธีทำได้ใช่ไหม แค่นั้น ช่างชาวไทยก็สามารถทำตามได้ แล้วหลังจากทำเสร็จช่างชาวญี่ปุ่นก็เข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง
สิ่งที่ผมทำในคราวนี้ นอกจากจะทำให้ผู้จ้างประหยัดค่าใช้จ่ายได้ จากที่เดิมต้องจ้างช่างญี่ปุ่น 3 คน ช่างไทย 2 คน ก็เหลือค่าใช้จ่ายแค่ ค่าช่างญี่ปุ่น 1 คน กับช่างไทย 2 คน ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และ ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะการตรวจเช็คสภาพ และเปลี่ยนอุปกรณ์ต้องทำในช่วงวันหยุดยาว ตอนสงกรานต์ยังง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นตอนปีใหม่นี่จองยากมาก ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกบริษัท ถ้าเราต้องใช้ช่างญี่ปุ่น 3 คน โอกาสที่จะจองช่างได้ก็น้อยลง แต่ถ้าเหลือคนเดียว ก็มีโอกาสจองช่างได้ง่ายขึ้นมากครับ เหนือสิ่งอื่นใด ความรู้ในการเปลี่ยนอุปกรณ์ เทคนิคการถอดประกอบ การรู้ว่าบนโลกนี้มีเครื่องมือดีๆอย่างที่ช่างญี่ปุ่นให้ยืม ได้ถูกถ่ายทอดผ่านผมสู่ช่างชาวไทยแล้ว
ผมว่า การถ่ายทอดความรู้เนี่ยแหละ เป็นคุณค่าที่สำคัญที่สุดในงานล่าม ความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ความรู้ที่เคยเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับชาวญี่ปุ่น สามารถถ่ายทอดมาสู่ช่างชาวไทย สังคมไทยได้โดยผ่านล่ามอย่างพวกเราครับ

満席前に日タイ交流会バンコクに申し込む!
สมัครJTCกรุงเทพฯก่อนเต็ม! เพื่อนชาวญี่ปุ่นรออยู่
2024年05月11日(土) 18:00~21:00 (地図)
11/May/2024(Sat) 18:00~21:00 (แผนที่)


※送信後の確認メールはありませんが送信後に画面が切り替わり「メッセージを送信しました」と出れば送信完了です

※หลังจากได้ทำการลงทะเบียนแล้ว ภาพหน้าจอจะปรากฎข้อความภาษาญี่ปุ่นว่า ”メッセージを送信しました” (แปลว่าส่งข้อความเรียบร้อยแล้ว) ถือว่าท่านได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.