ในโครงการ 文技通 ซึ่งย่อมาจาก 文化・技術通訳 โดยผมจะรับหน้าที่เลือกหัวข้อและเขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิคเพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับล่ามรุ่นใหม่ๆ หรือน้องๆที่กำลังจะจบออกมาเป็นล่ามกันนะครับ ซึ่งคำศัพท์และคำอธิบายเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีสอนในห้องเรียน แต่เวลาเข้าทำงานแล้วต้องใช้ และมีบางครั้งที่ข้อสอบวัดระดับเอาไปออกสอบด้วยครับ
วันนี้ขอเริ่มจากคำว่า 改善(かいぜん)นะครับ
ไคเซ็นแปลตรงตัวก็คือการปรับปรุงครับ
แต่ตอนล่ามอยู่ในโรงงานเราชอบเรียกทับศัพท์มากกว่า
ยกเว้นตอนล่ามให้พนักงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำงานในโรงงานญี่ปุ่นฟังแรกๆเราก็จะแปลคำนี้ว่า การปรับปรุงให้ก่อน พอทำงานไปซักระยะหนึ่งล่ามก็สามารถแปลว่าไคเซนได้เลย
การไคเซนก็คือ การค้นหาและกำจัด 3 สิ่งครับ นั่นก็คือ
1)ความสูญเปล่าสิ้นเปลือง
2)ความไม่สม่ำเสมอ
3)ความฝืนเกินกำลัง
ไม่ว่าจะกำจัดสิ่งใดก็เรียกว่าเป็นการไคเซนได้ทั้งนั้นครับ
เหตุผลที่คนญี่ปุ่นทุกโรงงานต้องทำไคเซ็นเพราะว่าชาวญี่ปุ่นมีความคิดเหมือนๆกันว่า
1)ไม่ควรรอให้สามารถทำดีที่สุดได้แล้วค่อยเริ่มทำ ทำได้เท่าไหนก็เท่านั้นก่อน เมื่อทำไปแล้วจะรู้เพิ่มเองว่าตรงไหนยังไม่ดี แล้วค่อยไคเซน แต่ถ้าไม่เริ่มทำอะไรเสียที ก็ไม่มีผลงานอะไรเสียที
2)ไม่มีสภาพใดดีที่สุดตลอดไป แม้วันนี้เราจะทำสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดได้แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้น หรือเราได้ค้นพบว่ามีจุดใดจุดหนึ่งยังเป็นปัญหา เราก็ควรจะปรับปรุงไปเรื่อยๆ
การไคเซนนั้นใช้หลักการของ PDCA (Plan Do Check Action) ก็จริง แต่ในความเป็นจริงนั้นลำดับวงจรนี้ใช้ได้เฉพาะตอนแรกเริ่มเท่านั้น เมื่อเราเข้าไปในโรงงานแล้ว ส่วนมากเขาจะทำงานกันอยู่แล้ว ดังนั้นเราควรจะเริ่มวงจรนี้จาก C ครับ ซึ่งวงจรจะเปลี่ยนเป็น CAPDo (อ่านว่า แคปดู ) คือเริ่มจากตรวจสอบสภาพปัจจุบันก่อน มีคำกล่าวว่า แนวคิดของการไคเซนที่ใช้ประโยชน์ได้จริงนั้น ล้วนต้องออกมาจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ดังนั้นหากเราเป็นคนใหม่ในสถานที่นั้นๆ เราควรเริ่มจากการศึกษาข้อมูลก่อนครับ
เนื่องจากมีบริษัทของชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตั้งอยู่ในประเทศไทย ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ความคิดของคนญี่ปุ่นนั้นจะช่วยให้เราได้เปรียบในการทำงานครับ