ใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้างไหมครับ
ถ้ามี เซนเซแนะนำว่า ควรรอจนกว่าจะพร้อมจึงค่อยไปสอบอีกก็ได้ครับ
เพราะหลังจากผ่าน一級ครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนเซนเซก็ไม่ได้สอบไปประมาณ 4 ปีครับ
ครั้งนั้นยังเป็นการสอบแบบเก่าอยู่ครับ จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน ต้องได้ 280 คะแนนขึ้นไปจึงจะผ่าน ครั้งนั้นเซนเซได้คะแนนประมาณ 300 คะแนน(จำรายละเอียดไม่ได้) พอผ่านแล้วก็เลิกสอบเลย กลัวสอบอีกแล้วไม่ผ่าน(ตอนนั้นอ่านเร็วติดสปีดได้แล้วนะ) แม้จะรู้ดีอยู่ว่าใช้ใบที่ผ่านแล้วไปสมัครงานก็ได้แต่ก็ไม่กล้าไปสอบอีกอยู่ดี จนผ่านไป 3-4 ปี หลังจากที่ทำงานเป็นล่ามมาระยะหนึ่ง ระหว่างนั้นก็พยายามไปร่วมงานอบรม หรือ งานสัมมนา ที่มีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นมาพูดแล้วมีล่ามรุ่นพี่เป็นคนแปลไทย เราก็สังเกตการทำงานของล่ามรุ่นพี่หลายๆท่าน แล้วในใจก็คิดไปเรื่อยว่าถ้าเป็นเราแปลตรงนี้ตอนนี้เราจะแปลว่าอย่างไร ถือโอกาสฝึกแปลไปในตัว พอฝึกไปเรื่อยๆก็ได้รู้ว่าที่จริงเราก็ล่ามได้เก่ง ล่ามได้เร็วเหมือนกันนี่นา แต่ต่อให้เราคิดว่าเราเก่งขนาดไหน ถ้าไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ให้ชัดเจน เราก็คงไม่กล้าพูดได้เต็มปาก ยังไงเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยคะแนนเอ็นหนึ่งที่สูงกว่าผ่านเฉียดๆให้ได้ ก็เลยตัดสินใจกลับมาสอบอีกครั้ง โดยไม่ได้อ่านหนังสือเลย สอบครั้งนั้นได้ 158 คะแนน เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จากประมาณ 75% คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 87% ถ้าตัดเกรดก็เข้าข่ายได้เกรดเอแล้ว นี่น่าจะพอพิสูจน์เรื่องความเก่งในฐานะล่ามได้แล้ว คือที่จริงการล่ามเก่งไม่เก่งนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคะแนนสอบอย่างเดียวนะครับ คะแนนสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น(JLPT)นั้นบอกเราได้แค่ว่าผู้เข้าสอบมีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นตามเกณฑ์ที่ผู้จัดสอบรับรองมากแค่ไหน เพราะในการล่ามบางครั้งเราก็ต้องเจอวิธีพูแบบคันไซเบง (ภาษาคันไซ) ซึ่งต่อให้เราพูดคันไซเบงเก่งขนาดไหน คะแนนJLPT ก็ไม่ได้ดีขึ้นครับ หรืออย่างคำศัพท์เฉพาะทางทั้งด้านเทคนิค และด้านวิชาการแม้เราจะรู้เยอะแต่คะแนนJLPTก็ไม่ขึ้นเหมือนกัน นอกจากนั้นความสามารถด้านภาษาไทย ต่อให้เป็นคนไทยเหมือนกันก็เก่งภาษาไทยไม่เท่ากันครับ และอีกเรื่องก็คือความรู้เชิงลึกในเรื่องที่แปล ถ้าเรามีความรู้เชิงลึกในเรื่องที่แปลคนฟังก็จะเข้าใจสิ่งที่คนพูดต้องการจะสื่อได้ดีขึ้น ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ฟังแล้วไม่เหนื่อย ดังนั้นเซนเซเข้าใจดีว่าต่อให้สอบเอ็นหนึ่งได้เต็มก็ยังไม่สามารถรับรองได้ว่าเราล่ามเก่งอยู่ดี
แต่ถ้าจะเป็นล่ามที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งแถวหน้าสุดของวงการได้นั้น อย่างน้อยแค่การพิสูจน์ด้วยคะแนนเอ็นหนึ่งก็ควรจะผ่านได้
เมื่อได้คะแนนเอ็นหนึ่ง 158 คะแนนแล้วเมื่อหลายปีก่อน เซนเซก็พอใจแล้วก็ไม่ได้คิดจะสอบต่อ
จนตัดสินใจมาเปิดคอร์สสอนเอ็นหนึ่งก็เลยเริ่มสอบอีกครั้ง เพราะคิดว่ายิ่งเซนเซเก่งขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสสอนนักเรียนให้เก่งขึ้นได้มากเท่านั้น จนะแนนขึ้นมาเป็น 168 ในปีที่แล้ว รอบนั้นเซนเซทุ่มเทในการฝึกการอ่านมาก จนค้นพบหลักการทำข้อสอบการอ่านให้ได้คะแนนเยอะ และในวันสอบจนทำเสร็จก่อนหมดเวลา หลับรอสองตื่นก็ยังได้ นักเรียนที่ไปสอบบังเอิญได้สอบห้องเดียวกันก็มาแซวว่า ไม่คิดว่าจะกล้าหลับจริง และผลของการสอบในครั้งนั้น การอ่านได้เต็ม 60/60 การฟังได้เต็ม 60/60 คันจิคำศัพท์ไวยากรณ์ได้ 48/60
เป็นไงหละนอนหลับสองตื่น ตื่นมายังได้เต็ม
และรอบล่าสุดที่เพิ่งประกาศคะแนนมานี้ เซนเซอยากได้พาร์ทแรกเต็ม ก็เลยฝึกแต่คันจิกับคำศัพท์ และก็ได้พาร์ทแรกเต็ม 60/60 สมใจ แต่การอ่านลดเหลือ 57/60 และการฟังลดเหลือ 59/60 รวม 176/180 คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 97.7%
ถึงตอนนี้จะเคยเต็มครบทุกพาร์ทแล้ว แต่เซนเซก็ยังท้าทายกับเป้าหมายเต็ม 180 อยู่นะครับ
อันที่จริงความเก่งของอาจารย์ก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าจะสอนได้ดี สอนแล้วนักเรียนเก่งหรอกครับ เพราะในการสอนเราต้องมีเครื่องมืออย่างตำราและสื่อการสอน เซนเซพยายามอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการสอนภาษาญี่ปุ่นทั้งในไทยและในญี่ปุ่นหลายเล่ม แต่ก็ยังไม่เจอตำราที่อยากใช้ จนในที่สุดก็คิดว่า ถ้ามันไม่มีขาย เราก็ทำเองเลยสิ ยอมรับครับว่าไม่ง่ายเลย เปรียบเทียบไปคงเหมือนซามูไรตีดาบเอง ต้องเริ่มต้นตั้งแต่หนึ่งเลย ออกแบบวางโครงสร้างตำราเอง ดังนั้นทุกๆส่วนของตำราจะมีกลิ่นอายของเซนเซอยู่ทั่ว
เซนเซเก่งแล้ว
ตำราดีแล้ว
ก็ยังไม่พอ
ต้องพัฒนาเทคนิคการสอนทำยังไงให้นักเรียนเรียนสนุก เพราะเนื้อหาที่เรียนค่อนข้างหนัก ถ้าไม่สอดแทรกความฮาบ้างนักเรียนคงทนเรียนได้ไม่นาน เซนเซก็ไปฝึกเล่ามุขตลก โดยศึกษาจากนักแสดงตลกชาวญี่ปุ่นและชาวไทยหลายๆท่าน ส่วนเรื่องมุขตลกของเซนเซเล่าแล้วตลกขนาดไหนต้องลองถามนักเรียนเก่าดูครับ