การเลือกบริษัท
ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ นอกจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง อย่างเช่น ความสามารถ ความขยัน ความซื่อตรง แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือนโยบายหลักของบริษัทครับ เพราะนโยบายหลักของบริษัทเกี่ยวกับการใช้ล่ามนั้นแทบจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย
ดังนั้นเราควรรู้ว่านโยบาย หรือรูปแบบการใช้ล่ามของบริษัทต่างๆในประเทศไทยเป็นแบบไหน เพราะการที่เรารู้ว่า การใช้งานล่ามของบริษัทต่างๆมีรูปแบบเป็นอย่างไร จะทำให้เราเข้าใจว่าเราควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ในฐานะล่ามในบริษัทนั้นๆได้อย่างไรบ้าง เมื่อเราปฏิบัติตัวได้เหมาะสมกับบทบาท เราก็จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างมีความสุข
และถ้ารูปแบบของสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา เราก็ค่อยหาบริษัทใหม่เมื่อถึงเวลาเหมาะสม เพราะตัวเรานั้นยึดโยงกับสิ่งแวดล้อม ตัวเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เราอาจจะใช้ความสามารถของเราทำให้บางอย่างดีขึ้นได้ก็จริง แต่มันก็แค่บางส่วนเท่านั้น เท่าที่กรอบของสิ่งแวดล้อมนั้นจะอำนวยให้เราทำได้ ดังนั้น การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยให้เราก้าวหน้าได้เร็ว ทำให้เราสามารถแสดงพลังความสามารถของเราออกมาได้เต็มที่ครับ
ลองดูวิธีการใช้งานล่ามญี่ปุ่นในประเทศไทยนะครับ
เท่าที่ผมทราบมามีอยู่ 4 รูปแบบหลักๆคือ
1 ให้แปลอย่างเดียว
สำหรับรูปแบบการใช้งานแบบนี้ จะให้ล่ามแปลพูดหรือแปลเอกสารอย่างเดียวเท่านั้น บางบริษัทที่ใหญ่หน่อยมีล่ามอยู่จำนวนมากหน่อยก็จะจัดตั้งเป็นแผนกล่ามขึ้นมา มีหัวหน้าล่ามแบ่งงานให้
บริษัทแบบนี้สามารถจ่ายเงินให้ล่ามได้ค่อนข้างสูง เพราะวิธีการใช้ล่ามแบบนี้เป็นวิธีที่ว่ากันว่าน่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับองค์กร
งานในบริษัทที่ใช้ล่ามรูปแบบนี้จะเหมาะกับล่ามที่ชอบแปลอย่างเดียว มีงานการมั่นคงเงินเดือนแม้ขึ้นไม่เร็วมากแต่ได้ขึ้นเรื่อยๆ แต่จะไม่เหมาะกับล่ามที่ชอบคิดชอบค้นคว้า หรือมีความรู้รอบตัวสูง ต้องการแสดงความสามารถมากกว่าแค่การล่าม
2 ให้ล่ามทำทุกสิ่งอย่าง
บริษัทแบบนี้จะมองว่าคนทุกคนควรฝึกฝนให้ทำงานเป็นหลายๆอย่าง เช่นล่ามก็ควรเรียนรู้งานของเอ็นจิเนียร์ด้วย บริษัทแบบนี้ทำด้วยความเชื่อที่ว่าคนเราสามารถเรียนรู้งานทุกอย่างได้ ถ้าทำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร เข้ามาแล้วจะสอนให้ บริษัทที่ใช้งานล่ามรูปแบบนี้ส่วนมากจะจ่ายได้น้อยกว่าแบบแรก ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะวิธีการใช้คนคนเดียวทำหลายๆงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูงนั้น จะทำให้ได้ประสิทธิภาพต่ำลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้งานล่ามแบบนี้ หากล่ามคนใดสามารถผ่านออกมาได้ ล่ามคนนั้นก็เปรียบเสมือนได้วิชาอีกสาขาหนึ่งติดตัว ดังนั้นงานในบริษัทแบบนี้จึงเหมาะสมกับล่ามที่ต้องการฝึกฝน หาความรู้ในสาขาอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะทางด้านภาษา คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าที่จริงแล้วยังมีพลังอย่างอื่นช่อนอยู่ในตัวคุณหรือไม่ ถ้าคุณยังไม่ได้ลองทำดู งานที่จ่ายเงินจ้างคุณแล้วยังให้คุณได้เรียนรู้และทดลองทำสิ่งต่างๆด้วยตัวคุณเองนั้นน่าสนใจมากๆเลยใช่ไหมหละครับ
แต่งานรูปแบบนี้ไม่เหมาะกับล่ามที่ต้องการทำงานด้านภาษาแต่เพียงอย่างเดียว
3 ล่าม ควบเลขา
ความน่าสนใจของงานแบบนี้ก็คือ คุณมีจำนวนคนที่อยู่เหนือคุณแค่ไม่กี่คน กรณีมีเจ้านายหลายคน หรือแค่คนเดียว กรณีมีเจ้านายคนเดียว รูปแบบงานจะเป็นการแปลเป็นหลัก และมีงานรองคือการช่วยเหลือเจ้านายเรื่องอื่นๆด้วย บริษัทที่ใช้งานล่ามในรูปแบบนี้มีช่วงการจ่ายเงินเดือนที่กว้างมาก บางบริษัทก็ให้บางคนสูงบางบริษัทก็ให้บางคนธรรมดา แต่เนื่องจากการทำงานในรูปแบบนี้จะทำให้คุณสนิทกับเจ้านายญี่ปุ่นได้มากกว่า และไวกว่า ดังนั้นคุณจึงมีโอกาสนำเสนอไอเดียให้เจ้านายได้ และเจ้านายก็มักจะค่อนข้างเปิดรับไอเดียคุณได้ง่ายกว่าการทำงานในรูปแบบอื่นๆ และถ้าหากเขาเอาไอเดียคุณไปทำแล้วมันเวิร์ค ผลจากไอเดียนั้นอาจจะช่วยสร้างกำไรเพิ่มให้บริษัทได้เป็นสิบล้านร้อยล้าน และหากปีนึงเรามีแค่ไอเดียเดียวที่ปังๆแบบนี้ แม้เงินเดือนจะสูงแล้ว(เพราะธรรมดาล่ามญี่ปุ่นก็เงินเดือนสูงอยู่แล้ว)แต่ก็ยังได้ปรับขึ้นเรื่อยๆได้ครับ เพราะบางครั้งผลจากงานของเราปีเดียว ก็พอจ้างเราไปจนเกษียณแล้ว
งานล่ามในบริษัทแบบนี้จะเหมาะกับคนที่มีความรู้รอบตัวสูง สามารถนำเสนอไอเดียได้แทบทุกเรืีองที่เจ้านายต้องการ และคนที่เก่งจริงก็จะได้เงินเดือนขึ้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่ล่ามก็ต้องเป็นคนมีคุณธรรมสูง เพราะหากล่ามทำอะไรเสื่อมๆบางครั้งผลเสียจะเกิดกับภาพลักษณ์ของเจ้านายด้วย และล่ามควรสามารถเก็บความลับได้สนิทที่สุด เพราะล่ามมีโอกาสรู้ความลับของนาย ถ้าล่ามไม่สามารถเก็บความลับได้ สุดท้ายจะเป็นตัวล่ามเองที่เดือดร้อน
งานแบบนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการตำแหน่งสูง เพราะ งานล่ามในรูปแบบนี้แทบไม่มีการเลื่อนตำแหน่งเลย แม้จะมีเงินเดือนสูงก็จริง ไม่เหมาะกับล่ามต้องการทำสิ่งต่างๆที่หลากหลายด้วยตัวเอง ไม่เหมาะกับมีความรู้รอบตัวน้อย
4 ล่ามสต๊าฟในแผนก
รูปแบบนี้จะเป็นรูปแบบที่ให้ล่ามสังกัดแผนกใดแผนกหนึ่ง และล่ามต้องรับงานประจำของแผนกนั้นๆมาทำด้วย รูปแบบการใช้งานล่ามแบบนี้คือล่ามจะมีเจ้านายที่ไม่ค่อยมีอำนาจตัดสินใจ และล่ามก็จะได้รับมอบหมายงานและต้องปฏิบัติหน้าที่ส่วนหนึ่งของแผนกควบคู่กับงานล่ามไปด้วย ข้อดีสำหรับการใช้งานล่ามในรูปแบบนี้ที่มีต่อตัวล่ามเองก็คือ งานที่ต้องล่ามนั้นไม่ค่อยยาก และสามารถเรียนรู้งานในแผนกได้ด้วยพร้อมๆ ซึ่งจะดีกว่าแบบที่ สอง ตรงนี้ สิ่งที่ต้องเรียนรู้นั้นมีเพียงเรื่องเดียว ทำให้รวบรวมสมาธิจดจ่อกับการฝึกฝนทักษะใหม่ได้ แต่ข้อเสียของวิธีแบบนี้ก็คือ เมื่อถึงเวลาประเมินผลเพื่อขึ้นเงินเดือน จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับสมาชิกในแผนกคนอื่นๆที่ทำงานคล้ายๆกัน และเมื่อเทียบดูแล้วล่ามจะได้เงินเดือนสูงกว่าคนอื่นอยู่แล้วทำให้มักจะโดนกดเกรด เพราะเจ้านายอาจจะมองว่า คนอื่นก็ทำงานคล้ายๆล่ามแต่เงินเดือนต่ำกว่า และเมื่อประเมินผลจากการทำงานล่าม ผลงานก็มักไม่เด่นชัดเท่าไร เพราะล่ามต้องแบ่งเวลาไปทำงานประจำของแผนกด้วย และผู้บริหารท่านอื่นก็ไม่ค่อยได้เห็นความสามารถของล่าม เพราะส่วนมากล่ามจะแปลแค่ในแผนกเท่านั้น
ดังนั้นรูปแบบการทำงานแบบนี้จึงเหมาะกับคนที่ยังไม่เก่งภาษามากนัก เพราะด้วยวิธีนี้ทำให้ล่ามมีงานประจำทำ และสามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ พร้อมทั้งได้ฝึกทักษะใหม่เพิ่มขึ้นอีกทีละทักษะด้วยครับ
และรูปแบบการทำงานแบบนี้ไม่เหมาะกับล่ามที่ต้องการทำแต่งานแปลเท่านั้น หรือล่ามที่มีความสามารถทางภาษาสูงแล้ว อยากแสดงผลงานตามความสามารถที่เรามีและอยากได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถนั้น
ลองดูว่านโยบายบริษัทเราเป็นแบบไหน และทำอย่างไร เราจึงจะมีความสุขกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้