ความหมายเล็กน้อย(ニュアンス)ทำนองเสียง(イントネーション)การเน้นเสียงพยางค์(アクセント)
ช่วงนี้ได้ผมได้รับคำถามเกี่ยวกับการออกเสียงตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นบ่อยมากครับ อย่างเช่น 「す」、「つ」、「ず」、「づ」ต่างกันอย่างไร หรือไม่ก็「し」、「ち」、「じ」、「ぢ」ต่างกันอย่างไรหรือไม่ก็「か」、「が」ต่างกันอย่างไร ที่จริงคำถามเหล่านี้นักเรียนชั้นต้นทุกคนก็ถาม นักเรียนชั้นกลางแทบทุกคนก็ถาม แต่นักเรียนชั้นสูงไม่ค่อยถาม ... ไม่ใช่เพราะรู้กระจ่างแล้ว แต่เป็นเพราะนักเรียนชั้นสูงไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้แล้ว ซึ่งผมคิดว่า อาจจะเป็นเพราะนักเรียนได้รู้ความจริงอะไรบางอย่าง
ในความเป็นจริง การที่เราจะพูดคุยกับคนญี่ปุ่นให้เข้าใจนั้น มีสิ่งที่สำคัญ และควรคู่แก่การทุ่มเท เวลาและแรงกายไปฝึกฝนมากกว่าเรื่องการออกเสียงตัวอักษรมากมายนัก สิ่งเหล่านั้นก็ได้แก่
ความหมายที่ต่างกันเล็กน้อยของคำศัพท์
หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ニュアンス
เพราะการใช้คำศัพท์ที่ตรงกับความหมายจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดจะสื่อได้เร็ว และ ถูกต้อง
อย่างเช่นในภาษาไทยถ้าเราพูดว่า ถนนเส้นนี้"คดงอ"มาก
คนฟังจะไม่ค่อยเข้าใจ
คนฟังต้องใช้ความสามารถสูงเพื่อทำความเข้าใจ
เพราะอันที่จริงถ้าจะใช้กับถนนหนทางต้องใช้คำว่า คดเคี้ยว
แต่คำว่า คดงอ ใช้กับสิ่งของเช่น ท่อ เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญสำหรับการสื่อความภาษาญี่ปุ่นรองจาก ニュアンス ก็คือทำนองเสียง หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า イントロネーション นั่นเองบางประโยคของภาษาญี่ปุ่น พูดเหมือนกันทุกตัวอักษร เพียงแต่ต่างกันที่ทำนองเสียง ก็จะทำให้ความหมายที่จะสื่อแตกต่างไปอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นประโยค 「あなたじゃない 」สามารถออกทำนอกเสียงให้มีความหมายว่า "คุณหรอ" "ไม่ใช่คุณ" หรือ ทำนองเสียงที่แสดงความไม่พอใจ ก็ได้ ซึ่งหากเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ อาจทำให้สื่อสารกับคนญี่ปุ่นผิดพลาดได้ง่าย เขาอาจจะถามแต่เราไม่ตอบ หรือเขาไม่ได้ถามเราดันไปตอบ ทำให้คุยกันไม่รู้เรื่อง
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการหัดออกเสียงตัวอักษรก็คือ การเน้นพยางค์ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า アクセント ในภาษาญี่ปุ่น มีคำศัพท์มากมายที่หากเขียนเป็นฮิรากานะแล้ว เขียนเหมือนกันเด๊ะ แต่เวลาออกเสียงแล้วจะออกเสียงเน้นพยางค์ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น あめ ถ้าเน้น あ จะแปลว่าฝน ถ้าเน้น め จะแปลว่าลูกอมครับ แต่เรื่องการเน้นพยางค์นี่ ถึงแม้เราจะออกเสียงผิดพลาดบ้าง ส่วนมากจะไม่เป็นไร เพราะว่าแม้เราจะเน้นผิด แต่ผู้ฟังโดยมากจะเข้าใจได้จากบริบทเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่
หากนักเรียนฝึกสามเรื่องด้านบนได้เก่งแล้ว ยังเหลือเวลา เหลือแรงกาย ค่อยไปฝึกการออกเสียงก็ได้ครับ หากนักเรียนคนไหนอยากเรียน สัทศาสตร์(ความรู้เกี่ยวกับการออกเสียงอักษร)ภาษาญี่ปุ่นขอให้เขียนแสดงความต้องการ หรือ คำถาม เข้ามาได้เลยครับ หากมีโอกาสผมจะแปลจากตำราสัทศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นที่ผมมีอยู่มาลงให้อ่านกัน