ข้อคิดจากตะเกียบ
วันก่อนที่บริษัทมีงานเลี้ยง
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เซนเซก็สังเกตเห็นประธานบริษัท(คนญี่ปุ่น) สอนพี่ผู้จัดการ(คนไทย) จับตะเกียบ
ซึ่งท่านประธานก็ทำท่าทางการจับที่ถูกต้องให้ดู แต่ว่า พี่เขาก็ทำตามไม่ได้ซักที
เซนเซก็เลยอธิบายหลักการให้พี่เขาฟัง ซึ่งเป็นหลักการที่ได้เรียนรู้มาในชั่วโมงวิทยาศาสตร์เรื่องคาน
พอเซนเซอธิบายหลักการให้ฟังแล้ว พี่เขาก็สามารถจับได้ถูกต้องทันที
เพราะที่จริงแล้ว เซนเซเองสมัยก่อนก็จับตะเกียบผิดวิธีมาหลายปี แต่ก็กินข้าวได้ตลอดด้วยวิธีผิดๆนั่นแหละ
แม่เซนเซพยายามสอน เหมือนกับเรื่องข้างต้นเลย สอนกี่ครั้งเซนเซก็ทำไม่เป็น
พอเรียนวิทยาศาสตร์ถึงเรื่องคาน เซนเซจึงได้เข้าใจว่า หลักการในการคิดเกี่ยวกับตะเกียบของเซนเซมันผิด และพอเซนเซได้ปรับหลักการให้ถูกต้องตามตำราแล้ว ก็จับได้ถูกต้อง
เมื่อเซนเซจับได้ถูกต้องก็รู้ได้เลยว่ามันดีกว่าเดิมเยอะ เพราะวิธีจับแบบผิดๆนั้น จะไม่สามารถคีบของเล็กๆเช่นเม็ดข้าว 1 เม็ดได้ แต่ตอนที่เราจับได้ถูกต้องนั้น เม็ดข้าวครึ่งเม็ดก็คีบได้ครับ
นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงได้เห็นว่าการเรียนรู้แบบครูพักลักจับ "ทำให้ดูอย่างเดียว" แต่ไม่อธิบายหลักการ หรือไม่สามารถอธิบายหลักการได้นั้น ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ช้ากว่าการเรียนรู้จากผู้สอนที่สามารถอธิบายหลักการได้
และส่วนมาก การอธิบายหลักการจะถือเป็นการสนทนาหัวข้อยากๆที่เป็นนามธรรม ดังนั้น อย่างน้อยต้องใช้ล่ามระดับ N1 จึงจะแปลได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า N1 ทุกคนจะแปลได้