หลักการพื้นฐานในการทำข้อสอบ 読解 N1
ในการทำข้อสอบ読解 มีหลักการข้อหนึ่งที่ผมจะยึดไว้เป็นหลักก็คือ คำตอบต้องมาจากบริบทของบทความนั้นเท่านั้น
แม้จะมีหลายครั้งที่เรื่องที่เรากำลังอ่านนั้น เป็นเรื่องที่เราเคยมีความรู้เดิมอยู่แล้ว หรือว่าเคยศึกษาเรื่องคล้ายๆกับเรื่องนั้นมาแล้ว แต่บทความที่เรากำลังอ่านเพื่อสอบอยู่นี้ อาจจะมีมุมมอง หรือวิธีการตีความที่แตกต่างออกไปก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ที่มักจะนำเรื่องเดิมๆ หรือหลักการที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้วนำมาตีความใหม่ในมุมมองของตนเอง
ถ้าเป็นในกรณีนี้ การที่เรามีความรู้เดิม อาจจะเป็นผลเสียต่อคะแนนการสอบก็เป็นไปได้นะครับ
ยิ่งบางคน(อย่างเช่นตัวผมในอดีต) พออ่านแล้วรู้สึกเหมือนจะเป็นเรื่องที่ตนเองรู้อยู่แล้วก็ไม่อ่านบทความจนจบ หรือไม่ก็อ่านแบบไม่ตั้งใจมาก แล้วข้ามไปตอบคำถามเลยก็มี คะแนนการอ่านก็ไม่ค่อยถึงระดับสูงมากครับ แต่คงเป็นเพราะอ่านเก่งพอตัวอยู่ ก็เลยทำคะแนนได้ระดับสูงมาตลอด
แต่เมื่อผมไม่พอใจกับคะแนนระดับนั้น ผมต้องการคะแนนเต็ม ผมจึงต้องเปลี่ยนวิธีทำ เพราะหากเรามัวแต่ทำด้วยวิธีเดิมๆ ผลก็คงออกมาเหมือนเดิม
ดังนั้นผมจึงยึดหลักพื้นฐานเลยก็คือ คำตอบของข้อสอบการอ่านต้องมาจากบทอ่านนั้นเท่านั้น โดยที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อให้ได้ ถ้าอ่านรอบแรกแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็อ่านรอบสอง รอบสามครับ ส่วนหนึ่งที่ผมสามารถทำได้แบบนี้ก็เป็นเพราะมีสกิลอ่านเร็วนั่นเอง
บทความแบบที่ผู้เขียนนำเรื่องต่างๆมาตีความใหม่ในมุมมองของตนเองนี้พบได้หลายครั้งในการสอบวัดระดับ
แต่เท่าที่จำได้ แทบไม่พบในการสอบ EJU เลย
นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ข้อสอบแต่ละที่ก็ควรใช้เทคนิคแตกต่างกันไป
เทคนิคแบบที่ผมสอนในการเตรียมสอบวัดระดับ บางเทคนิคก็นำไปประยุกต์ใช้กับการสอบ EJU หรือการสอบอื่นๆได้ บางเทคนิคก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้