ต้องยอมรับว่าผลการเรียนนั้นมีผลต่อโอกาสได้งาน และก็มีหลายครั้งที่คนที่มีผลการเรียนดี ก็จะทำงานได้ดีในฐานะผู้ปฏิบัติงานในสายงานที่เรียนได้ผลดีมานั้น แต่ก็ไม่ทุกคน
แต่ในการทำงาน เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง จุดที่เรากำลังจะก้าวข้ามจากตำแหน่งปฏิบัติการไปเป็นผู้บริหาร เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เราสั่งสมมาก็แทบจะไม่มีประโยชน์ไปเลย
เพราะอันที่จริงสายงานบริหารนั้นเป็นอีกสายงานหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สายงานที่สามารถต่อยอดมาจากความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆได้
สมัยเรียน เราเรียนรู้แค่สิ่งที่คนอื่นรู้ก่อนเราแล้วหลายสิบปีขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถทำตามสิ่งที่กำหนดให้ได้เท่านั้นเอง
และการเป็นผู้เชี่ยวชาญก็คือการต่อยอดจากความรู้ธรรมดานั้นให้ลงลึก เฉพาะทางมากขึ้น เมื่อถึงตรงนี้ หลายคนจะสามารถสร้างความรู้ใหม่ เทคนิคใหม่ ได้ด้วยตัวเอง แต่แม้จะบอกว่าเป็นความรู้ใหม่ แต่ส่วนมากก็เป็นสิ่งที่คนในวงการเดียวกันได้ตั้งสมมติฐานเอาไว้แล้ว และคนในวงการเดียวกันก็สามารถตัดสินถูกผิดให้กับความรู้นั้นได้
แต่การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารนั้นแตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารที่ต้องทำงานบริหารนั้น จะต้อง "ตัดสินใจ" ในสิ่งที่ไม่มีใครรู้คำตอบ อยู่ตลอดเวลา ตรงนี้แหละที่ผมบอกว่า ถึงจุดที่ความเก่ง(สมัยเรียน)ไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว
ดังนั้นผู้บริหารที่ต้องตัดสินใจก็จะกำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินของตนเองขึ้นมา แล้วสอนกันรุ่นต่อรุ่น แต่ละบริษัท แต่ละวงการ แต่ละประเทศอาจจะมีเกณฑ์การตัดสินใจไม่เหมือนกันก็ได้ แต่บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีหลักเกณฑ์การตัดสินใจคล้ายกันมาก
หลักนั้นก็คือ SQDC
เรียงตามลำดับความสำคัญเลยครับ
อันดับแรก S :Safty ความปลอดภัย
ในการทำงานใดก็ตาม ไม่มีอะไรสำคัญกว่าความปลอดภัยแล้วครับ หากทำงานไปแล้วต้องพิการสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เราก็ไม่ควรสั่งลูกน้องปฏิบัติงานนั้น แต่ถ้าหากจำเป็นต้องทำงานนั้น ก็หาวิธีป้องกันภัย หรือลดความเสี่ยง หรือลดความสูญเสียกรณีเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด
อันดับที่สอง Q :Quality คุณภาพ
คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานของตนเองมาก คุณภาพนั้นจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของคนเราให้ดีขึ้นได้ เพราะสินค้าท่มีคุณภาพ แม้จะราคาสูงแต่ก็ทนทานใช้งานได้นาน แม้ตอนซื้อจะแพงกว่าก็จริงเมื่อคำนวณเป็นราคาที่จ่ายไปต่ออายุการใช้งานแล้ว สินค้าที่มีคุณภาพจะช่วยให้ต้นทุนเราถูกลงอย่างเหลือเชื่อ
อันดับที่สาม D :Delivery การส่งมอบ
ของดี แต่มาช้า ไม่ทันใช้ก็ไม่มีประโยชน์ หรือถ้ามาเร็วเกินไปลูกค้าก็ไม่มีที่เก็บ ดังนั้นสิ่งสำคัญของการส่งมอบคือ ส่งมอบสินค้าที่ลูกค้าต้องการอย่างตรงเวลา (อาจจะก่อนหน้าได้นิดหน่อย)
อันดับที่สี่ C :Cost ต้นทุน
ต้นทุนคือสิ่งสุดท้ายที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ การประหยัดต้นทุนแล้วทำให้ความปลอดภัยลดลง คุณภาพลดลง ส่งมอบตรงเวลาได้น้อยลง เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นจะไม่ทำ แต่ว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี ผลประกอบการบริษัทก็แย่ไปด้วย อย่าว่าแต่พนักงานธรรมดาเลยผู้บริหารบางคนก็อาจจะไขว้เขวได้ อาจจะมองเห็นเรื่องต้นทุนสำคัญมากกว่าความปลอดภัย คุณภาพ การส่งมอบ แต่เศรษฐกิจมันมีขึ้นมีลงครับ แต่ความน่าเชื่อถือถ้ามันลดลงไปแล้วจะขึ้นยากแล้วทีนี้ บริษัทที่อยู่มาได้และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยๆปีนั้น เขาจะเน้นที่การสร้างความน่าเชื่อถือ เขาจะให้ความสำคัญกับความไว้วางใจที่ได้รับจากลูกค้า ดังนั้ผู้บริหารเขาจึงไม่ค่อยไขว้เขวกับเรื่องเศรษฐกิจแค่นี้หรอกครับ