วันนี้ก็กลับมาพบกับกิจกรรม 文技通กันอีกนะครับ

ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผมได้ร่วมมือกับแอดมินกลุ่มและแอดมินเพจหลายเพจช่วยกันให้ความรู้ทางด้านเทคนิคและทางด้านวัฒนธรรมแก่ผู้ที่สนใจ เนื่องจากพวกเราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้บางครั้งก็ไม่มีอยู่ในเนื้อหาที่นักศึกษาได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัย ดังนั้นตอนที่นักศึกษาจบออกมาจากมหาวิทยาลัย แล้วเข้าไปเป็นล่ามในบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรงงาน อาจจะลำบากใจเพราะไม่สามารถแปลได้ ทั้งๆที่ความจริงหากเราเรียนภาษาญี่ปุ่นมาแล้ว เรามาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้เพิ่มอีกนิดหน่อย ก็สามารถเป็นล่ามได้แล้ว ดังนั้นเพื่อให้นักศึกษาที่สนใจงานล่าม สามารถเป็นล่ามได้อย่างตลอดรอดฝั่ง พวกผมจึงตัดสินใจริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาครับ

歩留まり
ในตอนนี้ขอนำเสนอคำว่า 歩留まり ครับ
歩留まり(ぶどまり) แปลเป็นภาษาไทยว่า ผลผลิต ครับ และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า yield ครับ
แต่ว่าเวลาใช้จริงคนส่วนมากจะพูดคำนี้ในความหมายของคำว่า 歩留まり率 (ぶどまりりつ)ครับ ซึ่งถ้าเป็นคำนี้จะมีความหมายในภาษาไทยว่า อัตราส่วนของผลผลิตดี และมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า yield rate ครับ เนื่องจากเวลาล่าม เราต้องเน้นเรื่องแปลให้รู้เรื่อง ดังนั้นแม้เจ้านายญี่ปุ่นจะพูดว่า 歩留まり แต่ล่ามก็ควรแปลเป็นภาษาไทยว่า อัตราส่วนของผลผลิตดี ครับ ซึ่งในความเป็นจริง เนื่องจากคำนี้ในภาษาไทยนั้นยาวมาก ส่วนมากเราจึงแปลทับศัพท์ว่า ยีลด์ (ออกเสียงเหมือน ยีว) ครับ แต่ก็ต้องดูในบริบทด้วยครับ ถ้าพูดว่ายีลด์แล้วดูเหมือนมีคนไม่เข้าใจ ล่ามก็ต้องเสริมว่า ยีลด์ก็คืออัตราส่วนของผลผลิตดีครับ ตอนแรกๆอาจจะต้องพูดควบคู่กันสองภาษาไปก่อน พอไปๆซักระยะหนึ่งจึงเหลือภาษาเดียวได้ครับ และถ้ามีคนที่ทำท่าไม่รู้เรื่องอีก เราก็กลับมาพูดสองภาษาควบคู่กันอีกครั้งนะครับ
คำว่า yield นั้น ถ้าเป็นในเรื่องการเงินการลงทุนเราจะแปลว่า ผลตอบแทน และก็เช่นกันครับ ส่วนมากจะพูดคำว่า yield ในความหมายของคำว่า yield rate ดังนั้น ส่วนมากเราก็ต้องแปลว่า อัตราส่วนผลตอบแทน ซึ่งเรื่องนี้ผมขออธิบายแค่นี้พอนะครับ เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักของบทความนี้
สำหรับคำว่า 歩留まり ในภาษาญี่ปุ่นนั้น มีใช้เฉพาะในวงการการผลิตครับ ดังนั้นจึงความหมายเดียวคือ ผลผลิต ครับ ซึ่งส่วนมากในการใช้จริงส่วนมากจะหมายถึง 歩留まり率
ยีลด์หมายถึงอัตราส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาแล้วได้เป็นของดี นำไปใช้งานได้
ยีลด์เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของผลิตภาพและประสิทธิภาพของการผลิต
ยีลด์จะดีขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและกระบวนการผลิตครับ ยกตัวอย่างเช่น เราใช้วัตถุดิบจากแหล่ง ก ไก่ และแหล่ง ข ไข่ ปริมาณเท่าๆกัน เมื่อนำมาผ่านกระบวนการผลิตแล้ววัตถุดิบจากแหล่ง ก ไก่ ได้ผลผลิตของดี 8 ชิ้น ในขณะที่วัตถุดิบจากแหล่ง ข ไข่ ผลิตแล้วได้ผลิตภัณฑ์ของดี 7 ชิ้น แบบนี้ก็หมายความว่าวัตถุดิบจากแหล่ง ก ไก่ ดีกว่าวัตถุดิบจากแหล่ง ข ไข่
อีกตัวอย่างเช่น สมมติเราใช้วัตถุดิบจากแหล่ง ก ไก่ ปริมาณเท่าๆกัน นำไปเข้ากระบวนการแบบที่หนึ่ง และกระบวนการแบบที่สอง แล้วได้ผลผลิตจากกระบวนการแบบที่หนึ่งจำนวน 8 ชิ้น แต่ว่า กระบวนการแบบที่สองได้ 9 ชิ้น แบบนี้ก็หมายความว่ากระบวนการแบบที่สองนั้นดีกว่า
อันนี้เป็นเพียงมุมมองในด้านของ ยีลด์ เท่านั้นนะครับ แต่ว่าในความเป็นจริงหากเราจะเปลี่ยนวัตถุดิบ หรือเปลี่ยนกระบวนการ เราต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบครับ เช่นถ้าจะเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบเราก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอย่างเช่น ราคาแตกต่างกันมากจนคุ้มค่าไหม ผู้ขายมีความน่าเชื่อถือหรือไม่เขาจะรักษาระดับราคาและคุณภาพระดับนี้ไว้ได้นานขนาดไหน ผู้ขายมีความสามารถในการส่งมอบให้เราได้มากขนาดไหน ผู้ขายมีมาตรฐานคุณภาพอะไรบ้าง ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบ
และถ้าหากเราจะเปลี่ยนกระบวนการผลิต เราก็ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆอย่างรอบคอบเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าการลงทุนหากจะใช้เครื่องจักรแบบใหม่ เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่สูงขึ้นแล้วต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหนจึงจะคุ้มทุน เครื่องจักรแบบใหม่มีความน่าเชื่อถือไหมคุณภาพเพี้ยนไปมาหรือเปล่า เครื่องจักรแบบใหม่จะพังง่ายไหม พังแล้วจะมีคนมาซ่อมไหม ชิ้นส่วนสึกหรอจะมีใช้ตลอดหรือไม่ ต้นทุนในการดำเนินการสูงขึ้นหรือไม่เช่นถ้าเปลี่ยนจากมอเตอร์ AC เป็น มอเตอร์ DC ค่าไฟช่วงเปิดเครื่องรอผลิตก็แตกต่างกันแล้ว หรือเรื่องทักษะของพนักงานมีเพียงพอสำหรับเครื่องจักรใหม่หรือเปล่า
ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ส่วนมากล่ามโดยเฉพาะล่ามใหม่ๆไม่จำเป็นต้องช่วยพิจารณาแต่อย่างไร แต่ว่าล่ามควรเข้าใจแนวคิดเรื่องยีลด์ไว้ครับ เพื่อจะได้สามารถแปลให้คนอื่นรู้เรื่องได้

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.