สวัสดีครับ นี่เป็นสัปดาห์ที่สองที่ผมได้ร่วมมือกับแอดมินพี่โอ๋แห่งกลุ่มサイアムフリー通訳

และ แอดมินพี่เอ็มแห่งเพจล่ามอิสระ เพื่อมาแบ่งปันความรู้ทางด้านเทคนิค และวัฒนธรรม โดยคอนเซ็ปท์ในซีซั่นนี้จะเป็น คำศัพท์ทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ Toyota Production System (トヨタ生産方式) ครับ ซึ่งผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบไปแล้ว รู้สึกว่าอยากแปลให้คนไทยได้อ่านกัน เพราะว่าแม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1973 แล้วแต่เนื้อหาก็ยังเรียกได้ว่าทันสมัยอยู่สำหรับยุคปัจจุบันครับ แต่ว่าผมก็รู้ตัวเองครับว่ายังฝีมือไม่ถึงที่จะแปลเล่มนี้เป็นภาษาไทยแล้วตัวเองจะพอใจในผลงานของตัวเอง ดังนั้นผมจึงขอตัดเอาบางส่วน บางคำออกมาอธิบายขยายความเท่าที่ผมจะสามารถทำได้ก่อนละกันครับ

無駄

無駄

หัวข้อของสัปดาห์นี้คือ

無駄・ムダ・MUDA

คำนี้แปลตรงตัวว่าความสูญเปล่าสิ้นเปลือง
ตอนอยู่ในโรงงานแปลให้คนทั่วๆไปฟัง ผมมักแปลคำนี้เป็นภาษาไทย ความสูญเปล่าสิ้นเปลือง ให้คนไทยฟัง แต่เท่าที่สังเกตตอนไปร่วมกิจกรรม TPS ที่โตโยต้าจัด ก็มีหลายท่านที่ใช้ทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นว่า มูดะ ซึ่งล่ามแต่ละท่านจะใช้คำไทย หรือใช้คำทับศัพท์ก็แล้วแต่ว่าอยู่ในบริบทแบบไหนละกันนะครับ
จากหนังสือ トヨタの生産方式(ระบบการผลิตของโตโยต้า) ที่ 大野耐一(โอโนะ ไทอิจิ) ได้เขียนไว้เมื่อปี 1973 ได้ให้คำนิยามของคำว่าสูญเปล่าสิ้นเปลืองนี้ว่าเป็น สิ่งที่เพิ่มต้นทุน นั่นเอง ซึ่งความสูญเปล่าสิ้นเปลืองนี้มีพลังน่ากลัวมาก เพราะโรงงานส่วนมากทำงานกันได้กำไรไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และความสูญเปล่าสิ้นเปลืองเหล่านี้เองที่จะคอยกัดกินกำไรอันน้อยนิดของโรงงาน
ดังนั้นพื้นฐานของการไคเซนก็คือการพยายามค้นหา ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องกำไรอันน้อยนิดของโรงงานเอาไว้
ตามหนังสือเล่มข้างต้นได้เขียนไว้ว่า ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่
1) 造りすぎの無駄 ความสูญเปล่าจากการผลิตมากเกินไป
ทั้งๆที่ความจริงยังไม่จำเป็นต้องผลิต แต่เราเห็นว่างๆก็เลยผลิตต่อไปเรื่อยๆ อันนี้ก็จะก่อให้เกิดการผลิตที่เกินความจำเป็น แน่นอนแหละครับว่าการทำแบบนี้จะทำให้ผลผลิตชิ้นต่อชั่วโมงสูงขึ้น แต่ว่า ถ้าสุดท้ายแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านั้นขายไม่หมด เราก็จะต้องขาดทุนทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการแปรรูป หรือต่อให้สุดท้ายเราจะขายได้หมดก็ตาม แต่ระหว่างที่ยังขายไม่ได้เราก็ต้องเสียแรงขนย้าย ต้องเสียพื้นที่วางของ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนของโรงงานทั้งสิ้น ดังนั้น ชิ้นต่อชั่วโมงเยอะๆ ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไปนะครับ การจะไคเซ็นแก้ไขความสูญเปล่าสิ้นเปลืองในส่วนนี้ก็คือ ต้องรับออร์เดอร์ก่อนจึงค่อยผลิต แต่เราก็ต้องคิดด้วยว่าจะเตรียมการอย่างไรให้ผลิตได้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการ เพราะหากผลิตช้าไป ไม่ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ สุดท้ายลูกค้าก็เลิกซื้อของที่เรา
2) 手待ちの無駄 ความสูญเปล่าจากการรอ
หมายความว่าแม้ว่าเราจะอยากทำงานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องรอเครื่องจักรเดิน เราจึงทำได้แค่ยืนรอดูเท่านั้น การไคเซ็นในกรณีนี้ก็อย่างเช่น ระหว่างที่รอเครื่องแรกเดิน ก็หันไปทำเครื่องที่สอง เครื่องที่สามต่อ เมื่อทำเครื่องที่สามเสร็จแล้วก็พอดีกับที่งานเครื่องแรกเสร็จ ก็กลับมาทำชิ้นต่อไปของเครื่องแรกได้พอดี ในการไคเซนเพื่อแก้ไขความสูญเปล่าสิ้นเปลืองในหัวข้อนี้ เราอาจจะต้องมีการจัดวางเครื่องจักรให้สะดวกต่อการที่พนักงานหนึ่งคนจะทำได้หลายเครื่อง แม้ในบางครั้งการย้ายเครื่องจักรอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ถ้าสามารถช่วยกำจัดความสูญเปล่าสิ้นเปลืองในระยะยาวได้แล้วหละก็ การยอมจ่ายเงินเพื่อย้ายเครื่องจักรก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
3) 運搬の無駄 ความสูญเปล่าจากการขนย้าย
ความสูญเปล่าประเภทนี้จะเกิดจากการที่มีการขนย้ายมากครั้งจนเกินความจำเป็น หรือ ขนย้ายเป็นระยะทางไกลเกินความจำเป็น เพราะในการขนย้ายแต่ละครั้งเราจำเป็นต้องใช้ทั้งแรงงาน ทั้งอุปกรณ์เช่น รถโฟล์คลิฟท์ รถเข็นแฮนด์ลิฟท์ แถมยังต้องมีพาเลท มีกล่องใส่อีก ซึ่งล้วนต้องใช้เงินซื้อมา หากเราสามารถลดการขนย้ายได้เราก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อสิ่งของเหล่านี้ และเมื่อลดงานได้สำเร็จ ก็จะนำไปสู่การลดตำแหน่งงานได้อีกด้วย โดยทั่วไปวิธีการลดความสูญเปล่าสิ้นเปลืองประเภทนี้ก็คือ การจัดไลน์ให้กระบวนการแต่ละกระบวนการอยู่ใกล้ๆกัน เมื่อกระบวนการแรกทำเสร็จแล้ว ส่งต่อให้กระบวนการถัดไปทำงานต่อได้เลยทันที
4) 加工そのものの無駄 ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองจากการผลิต
ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองจากการผลิต ส่วนมากจะเกิดจากการที่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตนั้น ใช้งานยาก เช่นเครื่องปั๊มที่แม่พิมพ์ไม่มีไกด์ ทำให้เวลาใส่ชิ้นงานเข้าไปปั๊มต้องคอยเล็ง คอยจัด ให้ตรง ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเกิดเป็นความสูญเปล่าสิ้นเปลือง หรืออย่างตอนปรับตั้งเครื่องจักรหากเครื่องจักรไม่มีสเกล ต้องหมุนไป ลองกดไป หมุนไปลองกดไป หรือที่ปรับอยู่สูงมาก ต้องปีนขึ้นไปแล้วปรับ แล้วลงมาดูข้างล่าง ถ้าไม่ได้ก็ต้องปีนขึ้นไปปรับอีก แบบนี้ล้วนทำให้เกิดความสูญเปล่าสิ้นเปลืองในการทำงาน ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปวิธีการแก้ไขความสูญเปล่าสิ้นเปลืองก็ทำได้โดยการพยายามหาวิธีที่พนักงานจะทำงานได้สะดวกสะบาย ไม่ผิดพลาด เช่น ถ้าไม่มีไกด์ก็ทำไกด์ให้เมื่อใส่ชิ้นงานเข้าไปได้เฉพาะทิศทางที่ถูกต้องเท่านั้น และเมื่อเข้าไปถึงจุดที่กำหนดแล้วชิ้นงานก็จะหยุด จะดันต่อไปไม่ได้ หรือการปรับเครื่องก็ไปทำขีดสเกลกับตัวเลขไว้ แล้วก็จดไว้ว่าปรับตั้งรุ่นไหน ใช้ค่าเท่าไหร่ เมื่อถึงเวลาปรับตั้งก็สามารถปรับตั้งได้ทีเดียวผ่าน หรือการปรับตั้งที่อยู่ในจุดที่ทำงานยากเช่นต้องปีนขึ้นไป ก็หากลไกให้จุดปรับตั้งลงมาอยู่ข้างล่าง ก็จะลดความสูญเปล่าสิ้นเปลืองลงได้

ในปัจจุบัน ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองได้เพิ่มเป็น 7 ข้อแล้ว
ข้อที่เพิ่มมาก็ได้แก่
5)在庫の無駄 ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองจากการมีสินค้าคงคลัง
6)動作の無駄 ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองจากการเคลื่อนไหว
7)不良をつくる無駄 ความสูญเปล่าสิ้นเปลืองจากการผลิตงานเสีย
ซึ่งในที่นี้ผมขอไว้อธิบายในโอกาสต่อไปละกันนะครับ

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.