เรียนเก่งกับทำงานเก่งนั้นแตกต่างกัน

เพราะการเรียนกับการทำงานนั้นแตกต่างกัน

คุณคงเคยพบคนที่ตอนเรียนนั้นเรียนไม่เก่งแต่ทำงานประสบผลสำเร็จยอดเยี่ยม และกลับกันคุณก็คงเคยพบคนที่เรียนเก่งแต่พอมาทำงานแล้วประสบความล้มเหลว

อย่างไรก็ตามบนโลกนี้ยังมีคนที่ทั้งเรียนเก่ง และประสบความสำเร็จในการทำงาน และคนที่เรียนไม่เก่งและประสบความล้มเหลวในการทำงานด้วยเช่นกัน

แม้ว่าในการทำงานเราจะต้องใช้ความรู้ที่เรียนมาก็จริงครับ เพราะถ้าเราไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานเหล่านั้น เราก็คงยากมากที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม การเรียนเก่งนั้นเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงานเท่านั้นเอง และการเรียนเก่งนั้นไม่สามารถรับประกันความสำเร็จในการทำงานได้

เพราะการทำงานนั้นมีความแตกต่างกับการเรียนอยู่หลายประเด็น ลองมาศึกษาประเด็นเหล่านี้ดู บางที เราอาจจะพบวิธีประสบความสำเร็จในการทำงานก็เป็นได้

ความแตกต่างระหว่างการเรียนกับการทำงาน
1 ตอนเรียนเราจ่ายเงินเพื่อไปเรียน ตอนทำงานเราไปทำงานเพื่อรับเงิน
ตอนเรียนเราคาดหวังกับครู ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นลูกจ้างเราทางอ้อม (เพราะทำงานสอนเราเพื่อแลกกับเงินเดือนซึ่งก็มาจากค่าเรียนของเราเป็นหลัก) ว่าครูต้องมาสอนตรงเวลา ต้องตั้งใจสอน ต้องสอนดีๆ ต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีระเบียบวินัยดีกว่านักเรียน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาทำงาน นายจ้างก็คาดหวังกับเราคล้ายๆแบบนั้นเหมือนกัน
แต่ตัวเราซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจว่า สถานะของเราตอนเรียนซึ่งเปรียบเสมือนนายจ้าง นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราจะต้องเพิ่มระดับของระเบียบ วินัยให้มากขึ้น ขยันทำงาน ทำงานให้ดีๆ ตามที่นายจ้างคาดหวัง เพราะตอนทำงานสถานะเราก็คือลูกจ้างนั่นเอง

2 ตอนเรียนต้องเก่งทุกวิชาจึงจะถูกนับว่าเรียนเก่ง แต่ตอนทำงานเก่งแค่วิชาเดียวพอ แต่ต้องเก่งสุดๆ
นี่อาจจะเป็นจุดบอดอีกจุดหนึ่งของการดูเกรดเฉลี่ย เพราะนักเรียนที่ได้เกรดเฉลี่ยสูงต้องทำคะแนนได้สูงมากแทบทุกสาขาวิชา แต่ในการทำงานในองค์กรที่มีคนอยู่หลายคน เราสามารถให้คนอื่นช่วยทำงานที่เราไม่เก่งก็ได้ แล้วเราก็ทำงานแค่ตรงที่เราเก่ง ดังนั้นในการคัดเลือกทรัพยากรบุคคลองค์กรไม่ควรดูแค่เกรดเฉลี่ย แต่ควรดูเกรดของรายวิชาที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความรู้ที่องค์กรต้องการด้วย หรือบางครั้งหากทักษะที่องค์กรต้องการแต่ไม่มีเปิดสอนในโรงเรียนทั่วๆไป องค์กรก็ควรหาแบบทดสอบเฉพาะสำหรับผู้สมัครในตำแหน่งนั้นๆ
สำหรับคนทำงาน เราควรพัฒนาความเก่งของเราให้เชี่ยวชาญสุดๆด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนด้านอื่นรู้แค่พื้นๆก็พอ

3 ตอนเรียนเราเรียนสิ่งที่คนอื่นรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ตอนทำงานเราต้องทำสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ
ความรู้ที่เขียนอยู่ในหนังสือส่วนมากจะเป็นหลักการ ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นนานแล้ว และคนทั่วไปรู้หมดแล้ว แต่เราจะพบว่าพอถึงเวลาต้องทำงานจริงๆ หน้างานนั้นส่วนมากไม่เหมือนในตำรา ดังนั้นเราต้องหาอะไรบางอย่างเพื่อมาเชื่อมโยงหลักการ ให้เข้ากับ ความเป็นจริง ซึ่งผมเรียกสิ่งนี้ว่าเทคนิค ในตอนแรกที่เรายังไม่รู้เทคนิค ก็ไม่มีใครบอกเราได้ว่าเทคนิคจะเป็นอย่างไร ถึงแม้เราจะคิดเทคนิคได้แล้ว ก็ไม่มีใครรู้อีกว่าเทคนิคนั้นจะใช้ได้ไหม และต่อให้เราทดลองเสร็จแล้วว่าเทคนิคนี้ได้ผล ก็ไม่มีใคร(รวมถึงตัวเราด้วย) จะรับประกันได้ว่าเทคนิคนี้จะใช้ได้ผลตลอดไป หรือใช้ได้ผลในทุกๆสภาวะแวดล้อม
ความแตกต่างของรูปแบบความรู้ในจุดนี้ อาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการไขสู่คำตอบของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

4 ตอนเรียนครูตัดสินผลการเรียน แต่ตอนทำงานเราต้องตัดสินใจ ความแตกต่างระหว่างการตัดสิน กับการตัดสินใจก็คือ การตัดสินจะทำเมื่อเรารู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด แต่การตัดสินใจจะต้องทำทั้งๆที่เราไม่รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ดังนั้นเราต้องเรียนรู้วิธีตัดสินใจ โดยตั้งคำถามกับตัวเองและหาคำตอบไปเรื่อยๆ ซึ่งการตัดสินใจแต่ละเรื่องก็มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน

5 ตอนเรียนเพื่อนร่วมชั้นอายุไล่เลี่ยกัน ตอนทำงานเพื่อนร่วมงานมีหลากหลายช่วงอายุ
แล้วแถมยังมีหลากหลายตำแหน่งด้วย
สังคมการทำงานนั้นซับซ้อนกว่าสังคมการเรียนมาก มีคนจำนวนมากที่พบว่าปัญหาในการทำงานของเขาจริงๆแล้วอยู่ที่คนนั่นเอง ดังนั้นการรับมือกับสังคมที่ซับซ้อนขึ้นก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการชี้วัดว่าเราจะประสบความสำเร็จในการทำงานหรือไม สำหรับเรื่องสังคมนี้วิธีรับมืออาจจะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมองค์กรแค่ละที่ แต่คุณค่าที่ไม่ว่าสังคมใดๆล้วนยกย่องก็มีอยู่ครับ อย่างเช่น ความมีระเบียบวินัย อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต ขยันทำงาน เหล่านี้เป็นคุณค่าพื้นฐานที่คนทำงานควรมี

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.