เจ้านายไม่เรียกแปลเลย ทำไงดี

มีนักเรียนสอบถามคำถามเข้ามาว่า
เจ้านายไม่เรียกแปลเลย สงสัยเขาคิดว่าผมไม่เก่ง เพราะก่อนหน้านี้ผมแปลเอกสารให้เขาอ่านแล้วผมแปลไม่รู้เรื่อง ผมควรทำอย่างไรดี

通訳

By: reynermedia

ถ้าเราแยกทักษะ ที่เกี่ยวข้องกับภาษาญี่ปุ่นเป็น 4 ทักษะคือ ฟัง พูด อ่าน เขียน
เราสามารถแบ่ง 4 ทักษะนี้ตามลักษณะการรับส่งสารออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1) รับสาร ได้แก่ ฟัง อ่าน
2) ส่งสาร ได้แก่ พูด เขียน

สิ่งที่นักเรียนคนนี้ข้องใจก็คือ คิดว่าตัวเองเขียนไม่เก่ง ต้องไปอ่านหนังสือเพิ่ม

แต่ผมว่าปัญหาอาจจะไม่ใช่ตรงนั้น
ในการที่เราจะส่งสารออกไป เราควรมีสารที่จะส่งก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะใช้วิธีแบบไหนในการส่งสารนั้น คือ จะใช้ไวยากรณ์ไหน ใช้คำศัพท์คำไหน

ในฐานะล่าม สารที่เราต้องส่งก็คือสารของต้นฉบับ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มแปล เราควรทำความเข้าใจสารต้นฉบับก่อน

ตรงนี้แหละครับที่ยาก

คำว่าเข้าใจนี่แหละที่ยาก

วิธีการตรวจสอบว่าตนเองเข้าใจถูกแล้วหรือยังก็คือ ลองพูดสิ่งนั้นออกมาเป็นภาษาของเราเองแบบง่ายๆดูครับ

และในการทำงานล่าม เราสามารถนำสำนวนของเราไปถามต้นฉบับได้ครับ ว่าเราเข้าใจแบบนี้ถูกไหม
เช่นสมมติว่า
เจ้านายกำลังสอบถามบริษัทที่ปรึกษาว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนเราติดปัญหาต้องการสอบถามที่ปรึกษา แต่โทรไปบริษัทก็เจอแต่คอลเซ็นเตอร์ ทำไมไม่ส่งคนที่รู้เรื่องมาคุยกับเรา ทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าไป 1 วัน

ผู้ตอบอาจจะตอบว่า
ทางบริษัทที่ปรึกษาได้รับข้อมูลผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ของบริษัทแล้ว แต่เนื่องจากวันนั้นเป็นวันสงกรานต์พอดีครับ คนทั่วไปเขาไม่ได้ทำงานกัน อย่างไรก็ดีทางบริษัทที่ปรึกษาได้คิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นเรียบร้อยแล้ว

เราอาจจะพูดเป็นภาษาของเราง่ายๆพร้อมทั้งสอบถามทางค้นฉบับว่า
พอดีวันนั้นเป็นวันหยุดของที่ปรึกษาที่รับผิดชอบงานนี้ทำให้ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ แบบนี้ใช่ไหมครับ

การทำความเข้าใจสารเป็นขั้นแรกของการล่าม
เมื่อเราทำความเข้าใจได้แล้ว เราจึงค่อยมาเลือกคำศัพท์และไวยากรณ์ เพื่อใช้ในการส่งสารออกไป

โดยผมขอแนะนำให้เลือกใช้ไวยากรณ์และคำศัพท์ที่เรามั่นใจที่สุดในการส่งสาร ไม่ต้องไปพยายามใช้ไวยากรณ์หรือคำศัพท์ยากเกินความจำเป็น จนมีผลกระทบต่อความชัดเจนของสารที่เราจะสื่อ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความชัดเจนของสารที่เราจะสื่อนั่นเอง

สมัยที่ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นและต้องสอบข้อสอบ EJU ซึ่งเป็นข้อสอบวัดความสามารถของนักเรียนต่างชาติที่มหาวิทยาลัยส่วนมากในประเทศญี่ปุ่นใช้ในการพิจารณาคัดเลือก

ในการสอบ EJU จะมีให้เขียนเรียงความ400ตัวใน20นาทีด้วย ผมสามารถเขียนได้ 6/6 ทั้งๆที่ยังสอบไม่ผ่านเอ็นสอง ทั้งบทความนั้นผมใช้คำศัพท์และไวยากรณ์ระดับต่ำกว่า N2 ทั้งหมด แต่ผมเน้นที่ความชัดเจนของสาร และเทคนิคการเขียนที่ซ้อมมาทำให้คะแนนการเขียนออกมาดีมาก

ถ้าตอนนี้เจ้านายยังไม่เรียกใช้เรา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่เรียกใช้เราในอนาคต ดังนั้นเราควรฝึกฝนเตรียมตัวเอาไว้ เพื่อให้ถึงตอนที่เขากลับมาเรียกใช้เราแล้ว เราทำได้ดีจนเขายอมรับ

อ่อนตรงไหนฝึกตรงนั้น
ซ้อมในสนามซ้อม เล่นจริงในสนามจริง

บางทีตรงที่นักเรียนอ่อนอาจจะไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่นก็เป็นได้

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.