เป็นข้อสอบ 語彙 ระดับ N2
ที่จริงนักเรียนท่านนี้ไม่ได้เป็นนักเรียนที่เรียนกับไรอั้นสุนเซนเซหรอกครับ
แต่เป็นนักเรียนของอาจารย์ที่อื่น ซึ่งตอนที่นักเรียนมาถาม ไรอั้นสุนเซนเซก็ได้แนะนำไปแล้วว่า ให้ลองไปถามอาจารย์ของนักเรียนดูก่อน เพราะไรอั้นสุนเซนเซเชื่อว่า อาจารย์ที่สอนนักเรียนสดๆ ย่อมสามารถอธิบายให้นักเรียนเข้าใจได้ดีกว่า ไรอั้นสุนเซนเซ ที่สามารถอธิบายได้แต่เพียงตัวอักษร ผ่านทางเฟซบุ๊ก
แต่นักเรียนก็ตอบว่า นักเรียนได้ไปถามอาจารย์ท่านนั้นแล้ว
ไรอั้นสุนเซนเซก็เลยถามว่า แล้วเขาตอบว่าอย่างไร
นักเรียนบอกว่า “เขาตอบไม่ได้”
ไหนๆก็อุตส่าห์ไว้ใจมาถามไรอั้นสุนเซนเซแล้ว ขอให้เป็นหน้าที่ของไรอั้นสุนเซนเซไขข้อข้องใจให้เองละกันครับ
ข้อสอบที่ว่าก็คือ
จงเลือกข้อที่ใช้ 快い ที่ถูกต้อง
① 要らないパソコンでしたら、快くもらっていきます。
② 遠慮しないでいつでも快く遊びに来てください。
③ 急な仕事だったが、彼が快く引き受けてくれて助かった。
④ 親友の森さんには、どんな悩みでも快く打ち明けられる。
เฉลยคือ ข้อ ③ ครับ เพราะว่า 快く ในประโยคที่เป็นทางการ สามารถใช้ในความหมายว่า “อีกฝ่ายไม่แสดงท่าทีไม่ดี” ได้ด้วย ซึ่งในที่นี้ ข้อนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง
ข้อ ① ผิดเพราะ 快くตามปกติ แปลว่า 喜んで ได้ ในความหมายว่า ทำด้วยความยินดี ซึ่งต้องใช้กับท่าทางแสดงความต้องการอย่างชัดเจน ดังนั้น ในประโยคนี้ ผู้พูดบอกว่า ถ้าผู้ฟังไม่ต้องการ ผู้พูดก็จะเอาไป ข้อนี้ผิดเพราะไม่ได้แสดงถึงท่าทางที่ผู้พูดต้องการอย่างชัดเจน
ข้อ ② ผิดเพราะ ข้อนี้จะหลอกนักเรียนว่า 快く แปลว่า 気楽に ได้นะ แต่ที่จริง ในประโยคนี้ใช้ 気楽 ไม่ได้ครับ เพราะ 気楽 แปลไทยว่า のんびりซึ่งแปลว่าไม่รีบเร่ง ถ้าจะใช้คู่กับ 遠慮しないで น่าจะใช้ 気軽 ที่แปลว่า こだわりない ซึ่งแปลไทยว่า ไม่ต้องมีพิธีรีตรอง ไม่เป็นทางการ มากกว่าครับ
ข้อ ④ ผิดเพราะข้อนี้จะหลอกนักเรียนให้แปล 快く ว่า สบายใจ แต่อันที่จริงความสบายใจในความหมายของ 快く นั้นแปลว่า 気楽 ซึ่งแปลไทยว่า สบายใจที่ไม่รีบเร่ง หรือแปลว่า 気持ちよく 感じられる ซึ่งแปลไทยว่า สัมผัสที่ให้ความรู้สึกสบาย เช่น ลมเย็นๆ บรรยากาศดีๆ แต่ในตัวเลือกนี้ ความสบายใจนั้นจะมาจากความไร้กังวล คือไม่ต้องกังวลว่าถ้าเอาเรื่องไม่สบายใจมาปรึกษา 森さん แล้วเขาจะเอาไปพูดต่อ อะไรแบบนี้ ซึ่งความสบายใจแบบนี้ ภาษาญี่ปุ่นต้องใช้คำว่า 安心して ครับ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบบ้างนะครับ
ขอให้นักเรียนต้องไม่เพียงแค่จำว่าข้อนี้ตอบอะไร
แต่ขอให้ศึกษาหลักการวิธีพิจารณาความหมายของคำที่เซนเซใช้ในการอธิบาย
เพราะโอกาสที่คำถามจะออกซ้ำนั้นมีน้อยมาก แต่คำถามที่ใช้หลักการเดียวกันในการหาคำตอบนั้นมีเยอะมากครับ