通訳 หรือ 翻訳
ในการเป็นล่ามประจำบริษัทนั้น เป็นปกติอยู่แล้วที่เราต้องทำทั้งงาน 通訳 หรืองานล่ามการพูดคุย และทำงาน 翻訳 หรืองานแปลเอกสารทั้งสองอย่างไปควบคู่กัน
ทั้งสองงานดูผิวเผินแล้วบางคนอาจจะคิดว่า แค่ได้ภาษาก็ทำได้เหมือนกันทั้งสองแบบ แต่ความจริงแล้วทั้งสองงานใช้ทักษะแตกต่างกันพอสมควรเลยครับ
การล่ามการพูดคุยนั้น ทักษะสำคัญที่สุดคือการฟัง และการพูด ซึ่งสำหรับล่ามภาษาญี่ปุ่นชาวไทยแล้ว การล่ามภาษาไทยเป็นญี่ปุ่นนั้นส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะส่วนมากจะฟังภาษาไทยได้ดีกันแทบทุกคนอยู่แล้ว แล้วเวลาจะพูดภาษาญี่ปุ่นก็สามารถเลือกคำที่เรารู้ออกมาพูดก็ได้ อันนี้ไม่ค่อยยาก แต่พอต้องฟังภาษาญี่ปุ่นแล้วความยากจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เหตุผลหลักๆเลยก็คือ ในการฟังเราไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะฟังเฉพาะคำที่เรารู้เท่านั้น ดังนั้น นายญี่ปุ่นอาจจะพูดคำที่เราไม่รู้ก็ได้ ซึ่งบางคำที่เราไม่รู้ ต่อให้เขาพูดซ้ำอีกกี่รอบเราก็ไม่รู้ ดังนั้น เมื่อมีคำที่เราไม่รู้ผมมักจะไม่ขอให้เจ้านายพูดซ้ำอีกครั้ง(もう一回お願いします) แต่ผมจะขอให้เจ้านายพูดด้วยคำที่ง่ายๆกว่านั้น(簡単な言葉で言いますと) หรือพูดยกตัวอย่าง(例を挙げますと) พอจบจากตรงนั้น เราก็ค่อยไปถามเจ้านายว่าคำที่เขาพูดนั้น ที่จริงแล้วมันแปลว่าอะไรกันแน่
อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องยากสำหรับงานล่ามก็คือ คุณต้องแปลทั้งหมดนั่นด้วยความรวดเร็ว บางครั้งการประชุมเพียง 2 ชั่วโมงถ้าเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่พูดกันในที่ประชุมออกมาอาจจะเขียนได้เป็น 10-20 หน้ากระดาษ นั่นหมายความว่า ล่ามต้องแปลข้อมูลมหาศาลขนาดนั้นภายในเวลาแค่นั้นเอง
อีกอย่างหนึ่งที่ยากสำหรับงานล่ามคือ สิ่งแวดล้อมครับ คำว่าสิ่งแวดล้อมในที่นี้อาจหมายถึงทีมผู้จัดงาน ขนาดห้อง อุปกรณ์ รวมถึงผู้พูดและผู้ฟัง ในงานล่ามระดับสูงการแปลพร้อมจะสบายกว่าการแปลตาม เพราะการแปลพร้อมเราไม่ต้องจำ เราสามารถใช้พลังสมองไปกับการคิดคำแปลอย่างเดียว ส่วนการแปลตามเราต้องจำ ทำให้เราต้องแบ่งพลังสมองมาใช้ในการจำด้วย แต่ถ้าจะให้แปลพร้อม ควรมีอุปกรณ์เช่นไมค์กับหูฟังให้ล่ามด้วย เพราะว่าถ้าล่ามต้องแปลด้วยเสียงดัง ขณะที่ล่ามพูดเสียงดังๆนั้นหูของล่ามจะฟังไม่ได้ยินครับ ดังนั้นถ้าจะให้แปลพร้อม ล่ามอย่างเราต้องการหูฟังและไมค์ครับ และผู้ฟังก็ต้องสวมหูฟังด้วย
หรือสิ่งแวดล้อมที่ยากอีกอย่างก็คือ การล่ามบนเวทีครับ การอยู่บนเวทีใหญ่ๆ ส่วนมากจะฟังไม่ได้ยินเสียงลำโพงเหมือนตอนเราอยู่ข้างล่างครับ และหลายครั้งที่ล่ามไม่สามารถยืนใกล้วีไอพีขนาดที่จะสามารถฟังเสียงโดยตรงได้เพราะเวลาเขาถ่ายรูปวีไอพี มีบางครั้งที่เขาไม่อยากให้ล่ามอยู่ในเฟรมด้วยครับ แต่ถ้าไม่ได้ยินจริงๆ ก็ต้องขอขยับเข้าไปใกล้ๆวีไอพีและครับ ดังนั้นสำหรับล่ามอย่างเราเวทีใดที่ทีมงานที่สามารถเซ็ตลำโพงให้หันให้คนบนเวทีได้ยินนั้นถือว่าเป็นทีมงานที่ใจดีมากสำหรับล่าม หรือถ้าเซ็ตลำโพงไม่ได้ ก็ขอหูฟังให้เราซักชุดก็ยังดี
ความเครียดอีกอย่างหนึ่งของล่ามก็คือ คอมเม้นท์มาถึงเราได้ง่ายครับ ถ้าเราแปลไม่ดีวันไหน ส่วนมากจะโดนด่าวันนั้นเลย และโดนด่าโดยตรงด้วยครับ
สำหรับงานแปลเอกสารนั้น จะใช้ทักษะการอ่าน และการเขียนเป็นหลัก คำไหนที่อ่านไม่ออกก็เปิดพจนานุกรมได้ และส่วนมากจะไม่มีเวลาจำกัดมากถึงขนาดที่ต้องแปลให้ได้ ชม.ละ 10 หน้า 20 หน้าเหมือนล่ามการพูดคุย ดังนั้น เมื่อนักแปลมีเวลาทำงานมากกว่าล่ามมาก สิ่งที่ลูกค้าหรือก็คือ เจ้านายต้องการก็คือ ความถูกต้องเที่ยงตรงระดับสูงครับ
นอกจากนั้น นักแปลยังสามารถแปลอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตนเองเคยชินได้ด้วย หรือถ้าเป็นนักแปลฟรีแลนซ์ ก็สามารถหิ้วคอมพ์ไปทำงานที่ไหนก็ได้ สามารถเปลี่ยนบรรยากาศได้เรื่อยๆ
นักแปลไม่ต้องมาเผชิญโชค มาเครียดกับสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้
ดังนั้นความกดดันในงานจะน้อยกว่ามาก
ทำให้ ค่าจ้างล่ามต่อชั่วโมงจะแพงกว่าค่าจ้างนักแปลมากครับ เช่นค่าจ้างล่าม N1 วันละ 4,000 - 20,000 บาท (เคยมีออฟเฟอร์จากรีครูทมาที่ผม เขาบอกว่าลูกค้าต้องการมือดีที่สุดที่หาได้ เรื่องราคาให้เรียกได้เลย ผมก็เรียกไป 20,000 บาทต่อวัน ลูกค้าโอเคเรื่องงบ แต่พอเข้าสู่การคุยเรื่องเนื้องานปรากฎว่า จังหวะเวลาไม่สอดคล้องกันก็เลยไม่ได้รับงานนั้น)
ส่วนค่าจ้างนักแปลก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายแล้วก็จำนวนเอกสารถ้าเป็นหนังสือการ์ตูนก็เล่มละ 2,000 - 3,000 บาท(เท่าที่เคยได้ยินมาหลายปีแล้วไม่รู้ตอนนี้ขึ้นยัง) ซึ่งนักแปลน่าจะต้องใช้เวลาทำงานหลายวันอยู่
จะเห็นว่าค่าแรงผิดกันเยอะพอสมควร
สำหรับคนที่อยากลองสู้กับความกดดัน แต่ถ้าสู้ไหวเราจะได้รายได้เยอะ ก็เลือกพัฒนาทักษะไปทางสายล่ามเป็นหลักครับ แต่ถ้าใครอยากทำงานชิลๆ ได้เงินน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร ก็พัฒนาทักษะไปทางสายแปลเป็นหลักก็ได้ครับ
สำหรับน้องๆที่เพิ่งจบ ยังอาจจะทนความกดดันได้ยังไม่มากเท่าไร ถ้าเข้าไปทำงานในบริษัทแรกๆอาจจะตกลงกับรุ่นพี่ว่า ขอเริ่มจากหัดแปลเอกสารเป็นหลัก แล้วก็แปลการพูดคุยทั่วไปก่อนนะ งานประชุม งานอีเว้นท์ของบริษัทขอให้พี่ทำไปก่อน แต่ถ้าบริษัทไหนมีล่ามคนเดียวก็ต้องสตรองครับ เริ่มจากฝึกแปลเอกสารรัวๆ ขอเอกสารอะไรก็ได้จากเจ้านายมาฝึกแปลรัวๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเอกสารที่คนอื่นจะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อ
คือ เอกสารที่แปลไปแล้วไม่มีประโยชน์ก็ได้ครับ เพียงแค่อย่าให้ตัวเองมีเวลาว่าง เอาเวลาทุกนาที ทุกวินาทีมาใช้ในการฝึกลับคมความสามารถเรา เริ่มทำจากงานง่ายๆอย่างการแปลเอกสารไปก่อนครับ ทำเตรียมไว้เพื่อให้เวลาที่ต้องล่ามแล้วเราสามารถล่ามได้