และ ผม ร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นล่ามในโรงงาน และแบ่งปันความรู้ให้กับล่ามรุ่นน้องต่อๆไป โดยมีน้องได เป็นตัวแทนของล่ามรุ่นน้อง นำเอาสิ่งที่พี่เอ็มและผมไปสรุปพร้อมทั้งเขียนเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องไดได้ศึกษาเพิ่มเติม แล้วไปลงในกลุ่ม サイアムフリー通訳 นักเรียนที่สนใจ นอกจากตามอ่านในเพจผมแล้ว ยังสามารถไปอ่านในเพจล่ามอิสระ และ ในกลุ่มサイアムフリー通訳 ได้ด้วยนะครับ
วันนี้เรามาพบกับคำว่า かどうりつ กันครับ
ถ้าเป็นโรงงานญี่ปุ่นทั่วๆไป ส่วนมากจะใช้คันจิตัวนี้ครับ 稼働率
แต่ของโตโยต้า โดยโอโนะซัง ได้คิดคิดนี้ขึ้นมาครับ 可動率
ด้วยลักษณะนิสัยของโอโนะซัง ผมค่อนข้างแน่ใจว่าตอนเขาคิดคำว่า 可動率 ของโตโยต้าขึ้นมาครั้งแรกนั้น เขาต้องการให้อ่านว่า かどうりつ แน่นอน แต่เนื่องจากพอพูดๆไปแล้วเกิดสับสนกับ 稼働率 ที่มีมาแต่เดิม ทำให้ปัจจุบันบางครั้งที่โตโยต้าก็จะอ่าน 可動率 ว่า べきどうりつ ครับ
เวลาล่ามพูดเอง จะพูดว่า かどうりつ หรือ べきどうりつ ก็ได้ครับ เพราะถ้าเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับ TPS เขาดูบริบทแล้ว เขาก็จะเข้าใจเองว่าเราหมายถึงอะไร แต่ว่า ล่ามจำเป็นต้องรู้จักวิธีอ่านทั้งสองแบบเอาไว้ เพราะว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องฟัง เราก็ต้องฟังรู้เรื่องทั้งสองแบบ
ตอนนี้เรามาดูความหมายของคำว่า かどうりつ ทั้งสองคำกันนะครับ
稼働率 ถ้าเขียนแบบนี้ตามปกติจะหมายถึง อัตราการทำงาน(ของเครื่องจักร) (ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า (Machine working efficiency) คือตัวเลขที่บอกเราว่าในแต่ละปีที่มี 365 วัน แต่ละวันที่มี 24 ชั่วโมง แต่ละชั่วโมงที่มี 60 นาที เราสามารถเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตงานที่ขายได้ได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด
ลองคำนวณคร่าวๆดูนะครับ สมมติบริษัทแห่งหนึ่งทำงาน 8-17 น. พักกลางวัน 1 ชม. สมมติว่ามีขั้นตอนเตรียมการ และปรับตั้งวันละ 2 ชม. ก็เหลือเวลาเดินเครื่องจักร 6 ชม. สมมติว่างานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาผลิต 1 นาที แต่ว่าใน 6 ชั่วโมงนี้ทำงานได้เพียง 240 ชิ้น สมมติว่างานทั้ง 240ชิ้นนี้ขายได้ทั้งหมด เพราะเกิดความสูญเสียเวลาจากการที่พนักงานต้องหยิบงานเข้าออกจากเครื่อง ต้องไปเขียนบันทึก ต้องไปเข้าห้องน้ำ เป็นต้น ดังนั้นวันที่ได้งาน 240 ชิ้นต่อวันนั่นก็หมายความว่า เครื่องจักรเครื่องนั้นมีอัตราการทำงานเพียง 4/24 x 100% = 16.7% เท่านั้นเอง
การเพิ่มอัตราการทำงานของเครื่องจักรส่งผลต่อต้นทุนสินค้าโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ทุกโรงงานจะต้องการเพิ่มอัตราการทำงานของเครื่องจักร นั่นหมายความว่าต้องเพิ่มเวลาเดินเครื่อง แต่ผมอยากจะย้ำอีกครั้งนะครับ ในการจะเพิ่มอัตราการทำงานของเครื่องจักรนั้น เราต้องอยู่บนพื้นฐานว่าเราต้องผลิตแต่สินค้าที่ขายได้ภายในเวลาไม่นานเท่านั้น เพราะหากเราพยายามผลิตมากเกินไปก็จะทำให้เกิด ความสูญเปล่าสิ้นเปลือกจากการผลิตมากเกินไปอีกครับ ซึ่งการผลิตมากเกินไปนั้นจะทำให้เราสิ้นเปลือง ค่าขนย้าย ค่าเก็บรักษา เงินทุนก็จม บางทีเก็บนานเกินสินค้าก็เสื่อมคุณภาพอีก
เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าล่ามหลายๆท่านคงเข้าใจแล้วว่า เราจะดูแต่ 稼働率 ไม่ได้ เพราะอาจจะโดนหลอกได้ง่าย แถมอาจเกิดความสูญเปล่าสิ้นเปลืองด้วย ดังนั้น ทางโตโยต้าจึงคิดดรรชนี หรือตัวบ่งชี้ขึ้นมาอีกตัวหนึ่งซึ่งก็คือ 可動率 นั่นเอง
คำว่า 可動率 ผมไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษใช้คำว่าอะไร แต่ภาษาไทยผมใช้คำที่คิดขึ้นเองว่า อัตราความพร้อมใช้ ซึ่งหมายความว่า อัตราส่วนของจำนวนครั้งที่ต้องการใช้เครื่องจักรเทียบกับจำนวนครั้งที่ใช้ได้จริง
ซึ่งตามปกติ ตัวเลขนี้ต้องเป็น 100%
คือตอนไม่ใช้ก็ไม่ต้องไปเปิดเครื่องให้เปลืองพลังงาน เปลืองอะไหล่สิ้นเปลือง แต่ว่าตอนจะใช้ ต้องสามารถใช้ได้ทุกเครื่อง ทุกครั้ง
แต่ว่าตอนไม่ใช้ก็ปิดเครื่องไป เพื่อจะได้ประหยัดพลังงาน ประหยัดอะไหล่สิ้นเปลือง และต้องวางแผนการตรวจเช็คสภาพ ซ่อมบำรุง เติมน้ำมัน อัดจาระบีในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ หรือก็คือ ในช่วงที่ไม่มีแผนการผลิตนั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆก็อย่างเช่น รถยนต์ของเรานั่นเองครับ เมื่อเรามีความจำเป็นต้องใช้ เราต้องสามารถใช้ได้ทุกครั้ง แต่เมื่อเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็คงไม่มีใครบ้าไปขับไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ไม่ได้อยากจะไปไหนหรอก ใช่ไหมครับ และการนำรถยนต์ไปซ่อมบำรุงตามกำหนด ถ้าเป็นการไปในตอนที่เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้รถยนต์คันนั้น ก็ถือว่าไม่ทำให้ตัวเลข 可動率 ลดต่ำลง
ในการจะเพิ่ม かどうりつ ทั้งสองอันนี้ล้วนเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะต้องคิดให้รอบคอบ ดังนั้นการจะไคเซ็นในส่วนนี้ได้ผู้ไคเซ็นต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค และความรู้ทางด้านต้นทุนด้วย ซึ่งก็จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของบัญชีนิดหน่อย ดังนั้น หากเราต้องเป็นล่ามในสถานการณ์เหล่านี้ เราก็ควรลองหาความรู้ด้านเทคนิค และ ความรู้ด้านบัญชีติดตัวไว้บ้างก็ดีนะครับ