สวัสดีครับ วันนี้ก็เป็นประจำเหมือนเช่นเคยนะครับทุกวันศุกร์เวลา

6:00 น.นะครับ ที่จะได้มาพบกับโครงการดีอย่างโครงการ 文技通

สำหรับวันนี้ผมจะขอนำเสนอคำว่า
段取り(だんどり)ครับ

段取り
คำว่า だんどり นั้น ถ้าเปิดดูในพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่นเราก็คงจะอยากแปลว่า การเตรียมการ ใช่ไหมหละครับ
แรกๆ ผมก็แปลแบบนั้นเหมือนกัน แต่ตอนหลังผมมาสังเกตคนในโรงงานเวลาเขาพูดคุยกันเขาจะเรียกการกระทำนี้ว่า “การปรับตั้ง” ครับ
แต่ว่าคำว่า “การปรับตั้ง” มันก็แปลว่า 調整 (ちょうせい)ไม่ใช่หรอ ทำไมเจ้านายญี่ปุ่นจึงไม่เรียกว่า 調整
ซึ่งเรื่องนี้สร้างความสับสนให้กับผมมากในช่วงแรกที่เข้ามาเป็นล่ามโรงงาน เพราะตามพจนานุกรมแล้ว
段取り ต้องแปลว่า เตรียมการ และคำว่า ปรับตั้ง ต้องแปลว่า 調整
ทำให้เกิดความคิดต่อต้านในใจตนเองทุกครั้งเมื่อต้องแปลคำว่า 段取り ว่า ปรับตั้ง
ผมว่าคำนี้เป็นคำแรกๆ เลยที่ทำให้ผมได้เลือกเดินบนแนวทางของการเป็นล่ามเพื่อแปลให้คนเข้าใจ ไม่ใช่เป็นล่ามเพื่อแปลให้ตรงตามพจนานุกรม
และเชื่อไหมครับว่าหลังจากนั้นอีก หลายปีผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า การแปลขั้นสูง แม้ในหนังสือจะเขียนเรื่องการแปลภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็มีหลักการบางอย่างที่คล้ายๆกับการแปลภาษาญี่ปุ่นด้วย ในหนังสือนั้นก็ได้เขียนไว้ว่านักแปลควรแปลโดยเน้นให้คนอ่านอ่านเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องแปลตรงตัว
นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่หลักการที่ผมคิดค้นขึ้นเองนั้น ดันไปตรงกับหลักการที่คนอื่นคิดเอาไว้แล้วโดยบังเอิญ
นับตั้งแต่นั้นมาผมจึงสามารถหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ สามารถดัดแปลง ปรับปรุง การแปลของตัวเองไปตามสถานการณ์ได้ยืดหยุ่นขึ้นมาก ทำให้ฝีมือการล่ามและการแปลของผมก้าวไปอีกหนึ่งระดับ
ดังนั้น เมื่อน้องๆเริ่มทำงานในโรงงานแล้วอยากให้กล้าๆ แปล 段取り ว่าการปรับตั้งไปเลยครับ
แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่การปรับตั้ง เราก็ค่อยกลับมาแปลว่า การเตรียมการต่อนะครับเช่นถ้าเจ้านายบอกว่า 会議の段取りしといて เราก็ควรแปลว่า ช่วยเตรียมการประชุมให้ด้วย แบบนี้นะครับ
การปรับตั้งนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนครับ
นั่นก็คือ การปรับตั้งภายนอก และการปรับตั้งภายใน ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า
外段取り(そとだんどり) การปรับตั้งภายนอก และ
内段取り(うちだんどり)การปรับตั้งภายใน
การปรับตั้งภายนอกก็หมายถึงการปรับตั้งที่เราสามารถเตรียมการได้นอกไลน์ โดยไม่ต้องหยุดไลน์ผลิต สามารถเตรียมได้ตั้งแต่ก่อนที่การผลิตล็อตก่อนหน้าจะจบลง เช่นการไปยกแม่พิมพ์สำหรับงานล็อตต่อไปมาเตรียมไว้ข้างๆไลน์ หรือการประกอบแม่พิมพ์ หรือ เครื่องมือ อุปกรณ์เตรียมไว้ก่อน และการเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ตามลำดับให้พร้อม
ส่วนการปรับตั้งภายในก็หมายถึงการปรับตั้งที่เราต้องหยุดไลน์จึงจะปรับได้ เช่นการนำแม่พิมพ์เก่าออกจากตัวเครื่องแล้วประกอบแม่พิมพ์เข้ากับตัวเครื่อง การะทดลองเดินงานชิ้นแรก การปรับละเอียดในขั้นสุดท้ายเป็นต้น
นอกจากคำว่า 段取り แล้ว ยังมีภาษาญี่ปุ่นอีกหลายคำที่ชาวญี่ปุ่นมักใช้เรียกการปรับตั้งครับเช่น モデルチェンジ、型替え、組み換え เป็นต้น ทั้งหมดนี่เราสามารถแปลด้วยคำว่าปรับตั้งก็ได้ครับ หรือถ้าไม่ชอบก็สามารถแปลด้วยคำที่มีความหมายคล้ายๆกันเช่น เปลี่ยนรุ่น, เปลี่ยนไซส์,

โดยทั่วไปมีหลักการไคเซ็นเรื่องการปรับตั้งดังนี้ครับ
1) พยายามเปลี่ยนการปรับตั้งภายในให้เป็นการปรับตั้งภายนอกให้มากที่สุด เช่นแม่พิมพ์มีสี่ชิ้น ปกติเราเคยประกอบทีละชิ้นเข้าเครื่อง ก็พยายามหาวิธีประกอบเป็นชุดเตรียมไว้ก่อน แล้วพอถึงเวลาเปลี่ยนก็เปลี่ยนทีเดียวทั้งชุดเลย หรืออย่างป้อมมีดกลึงที่มีไบต์และอินเสิร์ตหลายๆอัน เราก็ใช้วิธีสั่งป้อมมีดสำรองมาอีกอันหนึ่งแล้วประกอบไบต์และอินเสิร์ตสำหรับงานรุ่นต่อไปเตรียมเอาไว้นอกไลน์เลย ในส่วนของการเตรียมการพวกนี้โดยทั่วไปจะให้พนักงานคนที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมเครื่องจักรเป็นคนทำ ถ้าโรงงานไหนไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้โดยเฉพาะก็จะใช้พนักงานที่เป็นหัวหน้างานเป็นผู้ประกอบเตรียมให้
2) พยายามฝึกให้พนักงานปรับตั้งเครื่องให้คล่องที่สุด โดยการให้พนักงานได้ฝึกฝนทดลองซ้อมปรับตั้งเครื่องจักรที่ยังไม่มีแผนผลิต ซึ่งกิจกรรมนี้จะสามารถทำได้เต็มที่ในช่วงที่บริษัทมีออร์เดอร์น้อยครับ ดังนั้นผู้จัดการที่บริหารจัดการได้ดีจะต้องจัดแผนการฝึกฝนให้กับพนักงานในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้เมื่อถึงตอนออร์เดอร์เยอะ พนักงานเราจะได้ปรับตั้งได้รวดเร็ว พร้อมที่จะรับมือกับออร์เดอร์จำนวนมากกว่าเดิม

ผมคิดว่าความรวดเร็ว และความสามารถในการปรับตั้งนั้น เป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยครับเพราะว่าในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โรงงานจะต้องพยายามผลิตสินค้าที่แตกต่างกัน ปริมาณมากๆ ให้ได้อย่างรวดเร็ว ในราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งแตกต่างจากยุคอุตสาหกรรมยุคที่ 3 ซึ่งมีแนวคิดในการผลิตว่าต้องผลิตสินค้าเหมือนกันจำนวนมากๆอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นผมเห็นว่าทุกๆโรงงานควรทุ่มเท ไคเซ็นเรื่องการปรับตั้ง เพราะความสามารถในการปรับตั้งนั้นจะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนรุ่นผลิตได้ไวขึ้น ทำให้สามารถรับงานล็อตเล็กลงได้ ซึ่งความสามารถในการรับงานล็อตเล็กนี่จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับโรงงานของเราได้แน่นอนครับ

満席前に日タイ交流会バンコクに申し込む!
สมัครJTCกรุงเทพฯก่อนเต็ม! เพื่อนชาวญี่ปุ่นรออยู่
2024年05月11日(土) 18:00~21:00 (地図)
11/May/2024(Sat) 18:00~21:00 (แผนที่)


※送信後の確認メールはありませんが送信後に画面が切り替わり「メッセージを送信しました」と出れば送信完了です

※หลังจากได้ทำการลงทะเบียนแล้ว ภาพหน้าจอจะปรากฎข้อความภาษาญี่ปุ่นว่า ”メッセージを送信しました” (แปลว่าส่งข้อความเรียบร้อยแล้ว) ถือว่าท่านได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว

-お知らせ ข่าวประกาศ

Copyright© Ryan Sun Sensei คอร์สติวสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นอาจารย์ไรอัน สุน , 2024 All Rights Reserved.