しなかった ปกติเราแปลว่า...
ในภาษาไทยไม่มีกาลของกริยา ดังนั้น เวลาเจอคำกริยาที่อยู่ในรูปอดีตกาล ผมจึงแปลเหมือน ปัจจุบันกาล แล้วใส่คำที่ทำให้ผู้อ่านรู้ว่าเป็นเรื่องราวในอดีต ลงไปในประโยคแปล ไม่ว่าประโยคต้นฉบับจะมีหรือไม่
เช่น
あまり勉強しなかったので、この間の試験に受からなかった。
เพราะฉันไม่ค่อยอ่านหนังสือ จึงสอบไม่ผ่านการสอบในคราวที่ผ่านมานี้
สังเกตว่าในประโยคแปลไม่มีการแสดงรูปอดีตกาลที่คำกริยา แต่เราก็อ่านแล้วเข้าใจว่าประโยคนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต นั่นก็เป็นเพราะว่ามีคำว่า "คราวที่ผ่านมานี้" ซึ่งทำหน้าที่ชี้ว่าเป็นเหตุการณ์ในอดีตนั่นเอง
หากเปลี่ยนประโยคต้นฉบับเป็น
あまり勉強しなかったので、試験に受からなかった。
เพราะฉันไม่ค่อยอ่านหนังสือ จึงสอบไม่ผ่าน
การแปลแบบนี้ จะทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นผู้แปลที่ใจดีหน่อย จะหาวิธีแปลให้ผู้อ่านรู้ง่ายๆว่าประโยคนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต
ดังนั้นผู้แปลจึงอาจจะปรับประโยคแปลเป็น
เพราะฉันไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ จึงสอบไม่ผ่าน
การใส่คำว่า ได้ ไว้ข้างหน้าคำกริยา ช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้เร็วขึ้นว่าคำกริยานั้นเกิดขึ้นในอดีต อันนี้เป็นเทคนิคการเขียนประโยคภาษาไทย ที่ผมสังเกตพบในการเขียนจดหมาย
หรือแปลเหมือนกับว่ามีคำบอกเวลามาให้ทั้งๆที่ต้นฉบับไม่มีคำบอกเวลา เช่น
เพราะฉันไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ ตอนนั้นจึงสอบไม่ผ่าน
ก็จะทำให้ผู้อ่านรับรู้ได้เร็วและชัดเจนขึ้น
นักเรียนที่เป็นล่าม หรือนักแปลก็ลองใช้เทคนิคนี้ในการแปลดูนะครับ