แนวคิดการพัฒนานักเรียนในแบบของไรอั้นสุนเซนเซ
บางส่วนก็มีส่วนคล้ายคุมอง ที่มีบล็อกแห่งหนึ่งเขียนว่าแชมป์สองสมัยรายการ 頭脳王 河野玄斗さん เคยเรียนมาเมื่อตอนเด็ก
แนวคิดของผมในการพัฒนาความรู้ของนักเรียนคือ ในขั้นแรกผมจะอธิบายความรู้ใหม่ให้นักเรียน อันนี้ไม่ค่อยแตกต่างจากครูอาจารย์ท่านอื่นมากครับ เรามีหน้าที่เตรียมความรู้มาให้นักเรียนอยู่อยู่แล้ว
ขั้นต่อมาหลังจากบอกนักเรียนแล้วว่านักเรียนควรรู้อะไรบ้าง เมื่อผมได้อธิบายความรู้นั้นจบแล้วผมจะมีแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ทดลองทำ โดยแบบฝึกหัดนั้นผมจะออกแบบมาให้สอดคล้องกับบทเรียน และระดับของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ค่อยๆพัฒนาทักษะขึ้นไปทีละขั้นทีละตอนอย่างเป็นระบบ
ขั้นที่สาม เมื่อนักเรียนได้ทดลองทำแล้วสิ่งสำคัญคือ ต้องมีคนตรวจ ผมก็จะทำหน้าที่ตรวจผลของการทำแบบฝึกหัดของนักเรียนทุกคนครับ เพราะผมคิดว่าการที่นักเรียนได้รู้ว่าความเข้าใจที่ตนเองคิดว่าตนเองเข้าใจแล้วนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะถ้าไม่มีคนตรวจ นักเรียนบางคนอาจจะเข้าใจเนื้อหาบางส่วนแบบผิดๆไปตลอดเลยก็เป็นไปได้ ตรงนี้แหละครับที่เหมือนกับคุมอง ที่แชมป์รายการตอบคำถามของญี่ปุ่น คุณโคโนะ เก็นโตะ ได้เคยเรียนมาในสมัยเด็ก โดยบทเรียนของคุมองจะออกแบบมาให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีคนสอน และเมื่อผู้เรียนเรียนด้วยตัวเอง แล้วได้ทำแบบฝึกหัดแล้วนำมาส่ง ที่ศูนย์จะมีครูคอยตรวจการบ้านให้ครับ คือแม้ผู้เรียนจะเรียนด้วยวิธีฟังครูสอนหรือเรียนด้วยตัวเองก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วผู้เรียนก็จำเป็นต้องมีคนที่มีความรู้สูงกว่าเป็นผู้ตรวจให้ เพื่อจะดูว่าเราเข้าใจได้ถูกต้องไหม ซึ่งถ้าครูไม่ทำหน้าที่ตรวจการบ้านให้นักเรียน ผมก็ไม่รู้ว่านักเรียนจะไปถามใคร หรือไปให้ใครตรวจให้ หรือนักเรียนทำๆไปทั้งๆที่ไม่รู้ตัวเองทำผิดหรือถูกแบบนั้นหรือ
หลังจากนั้น ขั้นที่สี่ขั้นสุดท้ายครับ ผมจะดูการพัฒนาของนักเรียนแต่ละคนแล้วให้คำแนะนำในการปรับปรุงต่อไป เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนไปให้สุดเท่าที่ตนเองจะไปได้
แม้นักเรียนส่วนมากจะเป็นล่ามก็จริง บางคนไม่ได้เป็นล่ามไปต่อโท ไปเป็นอาจารย์ หลังจากจบคอร์สไปแล้วก็ยังเอาคำถามมาถามเรื่อยๆ เมื่อสงสัยภาษาญี่ปุ่น ซึ่งผมก็ชอบนะ เพราะถ้าผมตอบได้ ก็ได้ช่วยนักเรียน ถ้าผมตอบไม่ได้ ผมก็โอกาสในการค้นหาความรู้เพิ่มเติม
จะบอกว่าในขณะที่ผมพัฒนาความรู้นักเรียน นักเรียนก็ช่วยพัฒนาความรู้ของผมไปด้วยก็ได้ครับ