กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ผม กับ พี่แอดมินเพจล่ามอิสระ
https://www.facebook.com/freelance.interpreter/
และพี่โอ๋แอดมินกลุ่ม サイアムフリー通訳
https://www.facebook.com/groups/503984606310210/
และน้องได เพื่ออธิบายความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานล่าม ใน สามมุมมอง อันจะทำให้ผู้ศึกษาสามารถทำความเข้าใจได้กว้างขวางขึ้นครับ
ซึ่งความหมายเหล่านี้หาอ่านในภาษาไทยยาก พวกเรากว่าจะทำความเข้าใจได้ก็ต้องอ่านจากภาษาญี่ปุ่นทั้งนั้นครับ ซึ่งบางครั้งก็อ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง พวกเราจึงคิดว่าอยากจะรวบรวมความรู้เหล่านี้ มาเผยแพร่ให้กับน้องๆที่กำลังจะเป็น หรือ เพิ่งจะเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น เพื่อน้องๆจะได้เก่งขึ้นเร็วๆ เพราะว่ามีภาษาไทยให้อ่าน อ่านภาษาไทยแล้วเข้าใจเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ่านภาษาญี่ปุ่น
โดยในช่วงนี้เราอยู่ในหัวข้อใหญ่ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า หรือเรียกสั้นๆว่าระบบ TPS
สำหรับคำที่จะนำเสนอในวันนี้ก็คือ 多能工化(たのうこうか)ครับ
คำว่า 多能工 นั้นมีความหมายว่า “ผู้ปฏิบัติงานที่สามารถทำงานได้หลายขั้นตอน”
เมื่อเติมคำว่า 化(する)ที่แปลว่า “ทำให้กลายเป็น” เข้าไปกลายเป็น 多能工化 ความหมายก็จะแปลว่า “การฝึกพนักงานให้สามารถปฏิบัติงานได้หลายขั้นตอน” นั่นเองครับ
ข้อดีของการฝึกหลายขั้นตอนคือ
1) พนักงานแต่ละคนมีโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีโอที ยกตัวอย่างเช่น
ไลน์ผลิตแห่งหนึ่งมีจุดงานทั้งหมด 10 จุด ใช้พนักงานทั้งหมด 5 คนสามารถผลิตได้วันละ 100 ชิ้น แต่ถ้าใช้พนักงาน 10 คนจะผลิตได้วันละ 150 ชิ้น ในเวลาที่มีงานวันละ 100 ชิ้นก็ทำงานกัน 5 คนปกติ แต่เมื่อมีงานเพิ่มเป็น 120 ชิ้น ในตอนนี้ทางเลือกของโรงงานแห่งนึ้ก็คือ รับสมัครคนเพิ่ม 2 คน หรือ ให้พนักงาน 5 คนเดิม ทำงานโอทีเพิ่ม ถ้าพนักงานทั้งไลน์เห็นตรงกันว่าจะช่วยกันทำโอที ทุกคนก็ได้รายได้เพิ่ม
แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกวันที่ทุกคนจะอยู่ทำโอทีได้ ดังนั้น บางวันอาจจะเหลือพนักงานอยู่แค่ 4 คน บางวันก็ 3 บางวันก็ 2 คน บางวันก็ 1 คน ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้ฝึกหลายขั้นตอนเอาไว้ หากพนักงานไลน์นี้ขาดไปแม้แต่คนเดียว เราก็ไม่สามารถเปิดโอทีไลน์นี้ได้ ทำให้เสียโอกาสของอีก 4 คนที่อยากทำโอที แต่ถ้าเราฝึกให้พนักงานทั้ง 5 คนทำงานได้ทุกตำแหน่งเหมือนกันหมด การมีพนักงานแค่ 2 คนก็ยังเปิดโอทีได้ แม้จะได้ไม่ครบ 20 ชิ้นในช่วงเวลาโอที แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลยซักชิ้นเดียว (แต่ถ้าเหลือพนักงานแค่คนเดียว ควรปิดครับ ตามหลักการบริหารโรงงาน)
2) โรงงานสามารถรองรับงานล็อตเล็กได้ดีขึ้น อย่างเช่น
หากเรากำหนดหน้าที่ให้พนักงานแต่ละคนไว้ เมื่องานของไลน์นั้นไม่มีเข้ามา พนักงานในไลน์ก็จะว่าง แต่ถ้าเราจัดคนตามงานเราก็จะสามารถหมุนเวียนพนักงานไปตามงานที่เข้ามาได้ พอมีงานเข้ามาในไลน์ไหน ก็จัดคนไปผลิตที่ไลน์นั้น เมื่อทำได้ครบเป้าหมายแล้วก็ หมุนเวียนไปที่ไลน์อื่นต่อไป หากยังไม่มีงานของไลน์อื่น ก็จัดเข้าไปในไลน์ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้เมื่อมีคนเพิ่มขึ้น แบบนี้ก็จะทำให้โรงงานของเรารับงานล็อตเล็กได้ดีขึ้น (การฝึกปรับตั้งเร็วที่เขียนไปก่อนหน้านี้ก็มีส่วนช่วยเสริมกิจกรรมฝึกหลายขั้นตอนด้วยนะครับ)
3) บริษัทจะรับมือปัญหาขาด ลา มาสาย ได้ดีขึ้น
เมื่อมีคนขาดงานไป เราจำเป็นต้องหาคนมาทำงานแทน หากเราไม่ได้ฝึกหลายขั้นตอนเอาไว้ เมื่อพนักงานคนใดคนหนึ่งมีเหตุจำเป็นให้ต้องลางาน หรือ ขาดงานไป ไลน์นั้นอาจจะต้องหยุดการผลิตเลย แต่ถ้าเราฝึกเตรียมไว้แล้ว ต่อให้มีคนขาดเราก็สามารถเดินงานได้ แม้กำลังการผลิตจะลดลง แต่ก็ดีกว่าต้องหยุดผลิต
วิธีการฝึก
เครื่องมือที่ได้รับความนิยมในการใช้ฝึกพนักงานให้ทำงานเป็นหลายขั้นตอน มีชื่อว่า สกิลแมป (スキルマップ)
โดยสกิลแมปจะเป็นตาราง มีแกนนอนเป็นขั้นตอนงาน และมีแกนตั้งเป็นชื่อพนักงานแต่ละคน (จะสลับแกนกันก็ได้) ในแต่ละช่องของตารางจะมี รูปวงกลม แบ่งเป็น 3-4 ส่วน โดยแต่ละขั้นตอนจะแบ่งเป็น 3-4 ระดับ โดยแต่ละโรงงานจะมีนิยามความหมายของแต่ละระดับเอง แล้วก็ทำการอัพเดตข้อมูลไปเรื่อยๆ เมื่อพนักงานแต่ละคนสามารถทำงานเพิ่มขึ้น หนึ่งขั้นตอน
ในการฝึกผู้จัดการก็ต้องจัดทำแผนการฝึก แล้วกำหนดให้หัวหน้างานฝึกตามนั้น ในช่วงงานเยอะ อาจจะฝึกไม่ได้มากเท่าช่วงงานน้อย ดังนั้นเมื่อช่วงไหนมีงานน้อย เราต้องเร่งฝึกคนให้มาก เพื่อให้สามารถรองรับออร์เดอร์ได้มากขึ้นเมื่องานเยอะขึ้น
ข้อควรระวัง
ไม่ใช่งานทุกประเภทที่เหมาะสมกับการฝึกหลายขั้นตอน หรือ ไม่สามารถฝึกหลายขั้นตอนได้ ดังนั้น ผู้บริหารควรพิจารณาให้รอบคอบไม่ใช่กำหนดนโยบายไปทีเดียวแล้วให้ทุกคนฝึกหลายขั้นตอนเหมือนกัน