มีบางคนที่ยังไม่ผ่านN1 พูดว่าไม่จำเป็นต้องผ่านN1 หรอก เพราะไม่ค่อยได้ใช้ในการทำงานจริง แต่เซนเซไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้ครับ
ในข้อสอบ N1 กับ N2 พาร์ทที่มีความยากใกล้เคียงกันที่สุดคือ พาร์ทการอ่านครับ พาร์ทอื่นๆนอกจากนั้นถือว่าความยากห่างกันเป็นระยะขั้นบันไดเรียงตัวสวยงามอย่างเหลือเชื่อ ดังนั้นทักษะการอ่านของคนผ่านN1 กับ N2 จะมีพอๆกัน แต่จำนวนของคำศัพท์ และไวยากรณ์นั้นจะมีความแตกต่างกันพอสมควร ดังนั้น การที่มีคนคิดว่าความรู้ระดับN1 ไม่มีใช้ในการทำงาน อันนี้เซนเซคิดว่าน่าจะมาจาก 2 สาเหตุครับ สาเหตุที่ 1 คือคนเหล่านั้นไม่รู้ว่าคำศัพท์ไหน ไวยากรณ์ไหนบ้างที่เป็นความรู้ระดับN1 และ 2 คนเหล่านั้นฟังไม่ออก เพราะตามหลักการของการฟังก็คือ เราจะฟังออกเฉพาะสิ่งที่เรารู้เท่านั้น อันไหนที่เราฟังไม่ออกเราก็ไม่รู้เรื่อง และมีแนวโน้มว่าจะลืมสิ่งที่ได้ยินนั้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเซนเซเองตอนที่ยังไม่เก่งพอที่จะเขียนตำราบุงโป ก็แปลให้ผู้บริหารอยู่แล้ว แต่พอเขียนตำราบุงโปเสร็จแล้ว คือมีความรู้เกี่ยวกับไวยากรณ์N1 แล้ว เซนเซจึงได้พบว่าที่จริงผู้บริหารท่านพูดคุยโดยใช้ไวยากรณ์ N1 หลายอันมากอย่างเช่น あっての、といい〜といい、たつもりで、ものがある จากสมมติฐานที่ว่า คนเรานั้นไม่เปลี่ยนสไตล์การพูดกันบ่อยๆหรอก เขาชอบใช้คำไหน ไวยากรณ์แบบไหนเขาก็จะพูดด้วยคำนั้นไวยากรณ์นั้นไปเรื่อยๆ นั่นก็หมายความว่าที่ผ่านมาเซนเซเองก็แปลเนื้อหาส่วนนี้คลาดเคลื่อนไป หรือข้ามไปไม่ได้แปล แต่เมื่อมีความรู้แล้ว เราก็แปลได้อย่างมั่นใจ ซึ่งการที่เรามีความรู้เพิ่มขึ้นแบบนี้ก็จะทำให้คุณภาพงานแปลของเราสูงขึ้นด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จริงของไวยากรณ์ N1 นั้นพบได้น้อยกว่าไวยากรณ N2 และระดับล่างลงไปครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในการสอบใดๆก็มักจะมีคำถามข้อยากปนมาด้วย ซึ่งคำถามข้อยากนี่แหละที่จะแยกเด็กเก่งกับเด็กธรรมดาออกจากกัน ดังนั้นแม้จะพบได้น้อยแต่เซนเซว่าพวกไวยากรณ์N1 ที่ออกมาตอนล่ามเนี่ยแหละที่ใช้แยกล่ามเก่งสุดๆ(N1) ออกจากล่ามเก่ง(N2) ครับ
แม้ล่ามบางส่วนจะยังไม่รู้แต่เซนเซว่าคนญี่ปุ่นเขารู้ครับ ว่างานที่เขาได้จากล่ามที่ระดับแตกต่างกันนั้นเนื้องานจะแตกต่างกันประมาณไหน